สารัญ Creditbank Credit card bank
123
12/10/2552
ปลดปล่อย “ความเก่ง” ในตัวลูก
ปลดปล่อย “ความเก่ง” ในตัวลูก
คาร์ล โรเจอร์ (Carl Rogers) นักจิตวิทยาการเรียนรู้ ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือ Freedom to Learn ว่า
มนุษย์เราถูกสร้างมาเพื่อเรียนรู้ ทุก ๆ คนมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้ และสิ่งสำคัญสำหรับการศึกษาคือ
การเรียนรู้ เรื่องใดก็ตามที่สามารถสอนได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ
การถูกบังคับให้เรียนเท่ากับเป็นการนำความเจ็บปวดมาให้กับผู้เรียนมากกว่า
ทั้งนี้ วิธีการที่ถูกต้องคือ การส่งเสริมให้เขาได้ใช้ความสามารถในการเรียนรู้ที่มีอยู่ในตัวให้มากที่สุด
คนเราทุกคนที่เกิดมาได้รับสิ่งหนึ่งเหมือนกัน นั่นคือ เมล็ดพันธุ์แห่งความสามารถในการเรียนรู้
มนุษย์เราได้รับการออกแบบมาให้เรียนรู้ ลองสังเกตลูก ๆ ของเรา ตั้งแต่ยังเป็นทารก
พฤติกรรมต่าง ๆ ของเขาเสมือนหนึ่งว่า เขากำลังปฏิบัติหน้าที่สำคัญ คือ เรียนรู้จักโลกนี้ให้มากที่สุด
แต่ความจริงที่น่าเศร้า คนจำนวนมากกลับซ่อนความสามารถในการเรียนรู้ของพวกเขาไว้
ทั้งนี้อาจเกิดจากประสบการณ์เจ็บปวด อันเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของพวกเขาในอดีต
ทำให้เขายุติความสามารถในการเรียนรู้ไปเสีย
ที่ผ่านมา ผมได้ลองสำรวจดูว่า ลักษณะของคนที่เก่ง ฉลาด ในระดับแนวหน้าของโลกจำนวนหนึ่ง
พบความจริงที่น่าสนใจว่า คนเหล่านี้ มักจะมีชุดของลักษณะนิสัยชุดหนึ่งที่เหมือน ๆ กัน
ที่ติดตัวพวกเขามาตั้งแต่เด็ก และไม่ได้หายไปตามกาลเวลา
พวกเขาสามารถรักษาและพัฒนาลักษณะนิสัย “เรียนรู้” เหมือนเช่นเด็กเล็ก ๆ ไว้ได้ อันได้แก่
อยากรู้อยากเห็น
มนุษย์เราเริ่มต้นชีวิตด้วยแรงปรารถนาจากธรรมชาติให้กระหายใคร่รู้ในสิ่งต่าง ๆ
สำหรับบางคนเมื่อเติบโตขึ้นสิ่งเหล่านี้กลับเลือนหายไป เบื่อหน่ายต่อการเรียนรู้
แต่คนเก่งจะมีความกระตือรือร้น ปรารถนาเรียนรู้ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว
สังเกตได้จากสีหน้าที่มีความตื่นเต้น มีชีวิตชีวา และมักเป็นคนที่ชอบตั้งคำถาม
สังเกตสิ่งรอบตัว
เด็กเก่งที่แท้จริงจะไม่ใช่เด็กที่เรียนเก่งเท่านั้น แต่จะเป็นคนที่ให้ความสนใจต่อทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว
เหมือนเด็กเล็ก ๆ ที่มองว่าทุกสิ่งที่เขาพบนั้นเป็นสิ่งใหม่ที่น่าเรียนรู้ไปหมด
โลกนี้มีสิ่งใหม่สำหรับพวกเขาเสมอให้เขาได้จดจ่อเรียนรู้ได้ตลอดเวลา
กล้าเผชิญสิ่งที่ท้าทาย จากความหิวกระหายใคร่รู้ในเรื่องต่าง ๆ รอบตัว
ทำให้กลายเป็นคนที่มีนิสัยไม่กลัวความยากลำบากหรือความล้มเหลว
จะไม่เลือกความสบายหรือทำสิ่งง่าย ๆ ที่ตนเองสามารถทำได้อยู่แล้วก่อน
แต่ยินดีเลือกที่จะยากลำบากถ้าทำให้ไปถึงเป้าหมาย
เมื่อได้รับแรงบันดาลใจจะมุ่งมั่นทำให้สำเร็จ แม้เหนื่อยยากเพียงใดก็ตาม
มีแรงจูงใจจากภายใน
แรงจูงใจในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จะเกิดจากความปรารถนาภายใน มากกว่าการถูกดึงดูดด้วยการให้รางวัล
หรือการลงโทษ ดังนั้น ในการเลือกเรียน เขาจะเลือกเรียนวิชาที่เขาสนใจจริง ๆ
โดยไม่สนใจว่าวิชานั้นจะยากเพียงใด รวมทั้ง การหยิบยื่นเงื่อนไขด้านรางวัลของพ่อแม่ก็จะไม่มีผลในการจูงใจ
เท่ากับความกระหายใคร่รู้ที่เกิดขึ้นจากภายในตัวเขาเอง ไม่เพียงเท่านั้น คะแนนสอบหรือเกรดที่ได้รับ
แม้เขาจะยอมรับว่ามันสำคัญ แต่จะไม่มีผลกระทบต่อความรู้สึกว่า เสียใจหรือปลาบปลื้มใจ
เพราะตระหนักในความจริงว่า คะแนนที่ได้รับนั้นไม่ใช่เหตุผลเดียวในการศึกษาเรียนรู้ของเขา
และคุณค่าในตัวเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้
จดจ่อ ศึกษา ค้นคว้า ฝึกฝน..จนรู้จริง
เมื่อต้องการเรียนรู้เรื่องใด เขาจะมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่สนใจได้เป็นเวลานาน
ความตั้งใจศึกษา เรียนรู้ และฝึกฝนอย่างเอาจริงเอาจัง ยิ่งในวิชาที่ยาก ต้องทำความเข้าใจและใช้ทักษะในการฝึกฝน
จนกระทั่งรู้เรื่องนั้นอย่างกระจ่างจนกระทั่งมันกลายเป็นธรรมชาติที่สอง (second nature)
และสามารถประยุกต์สิ่งที่เรียนให้กับสถานการณ์ใหม่และแตกต่างจากเดิมได้
ยินดีรับการเปลี่ยนแปลง
คนเก่งส่วนใหญ่จะไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่กลัวสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
ในทางตรงกันข้าม กลับชอบที่จะต้อนรับมัน ชอบวิพากษ์ความคิดของตนเอง
ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดหรือมุมมองของตนเองที่มีต่อเรื่องต่าง ๆ ไม่จำกัดด้วยกรอบเหตุผลของตนเอง
แต่ชอบที่จะรับฟังความคิดเห็นในมุมตรงกันข้าม
ชอบที่จะนำความรู้ใหม่ ๆ มาท้าทายตนเอง มิใช่เพื่อหาข้อโต้แย้ง แต่เพื่อหาคำตอบที่น่าจะเป็นไปได้
มองโลกในแง่บวก และมีความคิดสร้างสรรค์
ในสิ่งที่คนอื่นอาจมองว่าโง่เขลาหรือไร้สาระ คนเหล่านี้จะมองเห็นโอกาสในการสร้างสรรค์
และสามารถที่จะรวบรวมเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ จากขอบเขตความรู้ที่กว้างขวางของวิชาต่าง ๆ
และนำมาประกอบเชื่อมโยงกันเข้าในวิธีการใหม่ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ออกมา
ที่สำคัญ มักจะเป็นคนที่ความสุขกับชีวิต ยอมรับตนเอง ยอมรับคนรอบข้าง
และสิ่งท้าทายต่าง ๆ ที่เผชิญหน้าเข้ามาในชีวิต
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผมตระหนักเสมอว่า ลักษณะนิสัยของนักเรียนรู้จะต้องมีอยู่ในตัวเราทุกคน
แม้เวลาจะผ่านไปพ้นวัยเด็กไปแล้วก็ตาม เพราะสิ่งนี้จะเป็นเครื่องยืนยันว่า เมื่อลูก ๆ ของเราเติบโตขึ้น
พร้อม ๆ กับนิสัยของนักเรียนรู้ เขาจะสามารถเป็น “เด็กเก่ง” ไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ตาม
ที่มา สื่อกลาง
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)