สารัญ Creditbank Credit card bank

123

12/10/2552

เทคนิคการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

เทคนิคการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

ในความเป็นจริงแล้ว คนเรายังมีศักยภาพซ่อนอยู่ในตัวเองอีกมากมาย เพียงแต่เรายังไม่เคยคิดที่จะค้นหา
บางคนคิดจะค้นหาแต่ยังไม่รู้ว่าจะค้นหาได้อย่างไร บางคนเคยลองค้นหาแล้วเจอบ้างไม่เจอบ้าง
และขาดการค้นหาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะขาดความอดทน ทำอะไรมักจะทำแบบชั่วครั้งชั่วคราว
นิยมอะไรก็นิยม เป็นพักๆ เป็นแฟชั่น เราจะเห็นว่าถ้ามีทฤษฎีหรือหลักการอะไรที่เข้ามาใหม่ๆในเมืองไทย
มักจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่มักจะเป็นเพียงระยะเวลาอันสั้น แล้วคนไทยก็ค่อยๆลืมของเก่า
โดยที่ทั้งๆที่ไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ดี แต่พอของใหม่ เข้ามาก็หันไปให้ความสนใจกับสิ่งใหม่ๆ แทน

ผมเชื่อว่าถ้าจะพูดถึงองค์ความรู้ที่มีอยู่ในหัวสมองของคนทำงานในบ้านเรา มีไม่น้อยกว่าชาติอื่นอย่างแน่นอน
แต่สิ่งที่เราอาจจะด้อยกว่าเขาก็คือ เรายังขาดการพัฒนาและริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆด้วยตัวเราเอง
เราชอบจำวิธีการของคนอื่นมาประยุกต์ใช้มากกว่าคิดและพัฒนาขึ้นมาเอง
จะเห็นได้จากเทปผีซีดีเถื่อนเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดอันนี้แสดงให้เห็นว่า
นอกจากเราจะไม่เคารพในศักยภาพของตัวเองแล้ว เรายังชอบทำมาหากินบนความคิดของคนอื่นอีกด้วย
สิ่งนี้คงจะมัวไปนั่งโทษใครไม่ได้เพราะระบบการเรียนการสอนในอดีต มักจะสอนให้เราท่องจำมากกว่าการคิด
และแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าคนทำงานในบ้านเราไม่เก่งนะครับ แต่ผมกำลังจะบอกว่า
ถ้าเราได้เปิดโอกาสให้กับตัวเองเพื่อวิเคราะห์ ค้นหาและพัฒนาศักยภาพทางการคิด
โดยเฉพาะการคิดสร้างสรรค์ให้กับ ตัวเองอีกสักนิด รับรองได้ว่าศักยภาพทางการแข่งขันในเรื่องต่างๆของเรา
จะเพิ่มขึ้นอีกมากทีเดียว สมองของเราก็เปรียบเสมือนกำลังการผลิตของเครื่องจักรในโรงงาน
ปัจจุบันเรายังผลิตไม่เต็มกำลังของเครื่องจักร หรือบางครั้งเครื่องจักรบางเครื่องเรายังไม่ได้ใช้งานมันเลย

ผมจึงขอแนะนำวิธีการในการพัฒนากำลังการผลิตของสมองให้เต็มที่ ด้วยวิธีการดังนี้

1. ฝึกคิดเชิงบวก (Positive Thinking)
หลายคนคงจะเคยได้ยินคำนี้กันมามากต่อมากแล้ว แต่เราเคยนำไปใช้ในชีวิตประจำวันกันมากน้อยเพียงใด
การคิดเชิงบวก ไม่ใช่เป็นเพียงการมองโลกในแง่ดีเพียงอย่างเดียว
แต่จะต้องแสวงหาโอกาสจากบุคคล สิ่งของ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วย
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราต้องฝึกคิดว่ามีอะไรที่เป็นประโยชน์กับเราบ้าง เช่น
*ถ้าเราตกงานเราก็คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้มีเวลาพัฒนาตัวเองแบบเต็มเวลา
*ถ้าเราอกหักก็คิดเสียว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้เปิดโอกาสให้กับคนดีๆอีกหลายคนเข้ามาในชีวิตของเรา
*ถ้าเราเครียดมากๆ ก็ให้คิดเสียว่าจะได้เป็นการทดสอบความแข่งแกร่งของจิตใจว่า
จะสามารถรับมือกับสภาพความเครียดได้มากน้อยเพียงใด
เพราะในอนาคตเราอาจจะ มีเรื่องที่เครียดมากกว่านี้ก็ได้

การฝึกคิดเชิงบวก นอกจากจะช่วยให้เราฝึกการแสวงหาโอกาสแล้วยังช่วยให้เราเกิดการเรียนรู้ที่เหนือกว่าคนอื่น
เพราะถ้าเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น เราสามารถเรียนรู้ทั้งสิ่งที่คนทั่วไป เขารู้กันแล้วเรายังเรียนรู้ในสิ่งที่คนอื่นๆ เขา
มองข้ามไป เมื่อเราฝึกแบบนี้ไปนานๆ หลายๆครั้งเข้า จำนวนเท่าของความรู้ของเราจะเหนือกว่าคนทั่วไป
อย่างน้อยสองสามเท่าตัว

2. ฝึกคิดย้อนศร (Backward Thinking)
ใครก็ตามที่คิดไปในแนวทางเดียวกันกับที่คนทั่วๆไปคิด ความคิดเราจะไม่เกิดความแตกต่าง
แต่เมื่อไหร่ก็ตามเราคิดสวนทางกับคนอื่น อาจจะทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ที่ดีๆขึ้นมาก็ได้

เราจะเห็นได้จากคนหลายคนได้ดีจากการทำธุรกิจที่ตรงกันข้ามจากคนอื่น เช่น ปกติรถเสียต้องพารถไปหาอู่
แต่เมื่อคิดใหม่คือเอาอู่ไปหารถ จึงทำให้เกิดธุรกิจบริการซ่อมรถฉุกเฉินขึ้นมามากมาย
หรือเมื่อก่อนถ้าเราจะกินพิซซ่า เราจะต้องไปที่ร้าน แต่เมื่อมีคนคิดย้อนศรคือ ให้พิซซ่าไปหาลูกค้า
ก็เลยเกิดธุรกิจ Home Delivery ขึ้นมามากมาย ปัจจุบันนี้ไม่เพียงแต่การซ่อมรถหรือการขายพิซซ่าเท่านั้น
แต่การคิดย้อนศรในลักษณะนี้ก่อให้เกิดธุรกิจอีกมากมาย ไม่ว่าการส่งดอกไม้ ร้านหนังสือ ร้านวีดีโอ เป็นต้น

การคิดย้อนศรนี้จะช่วยให้เราไม่หลงไปกับกระแสของสังคม
การฝึกคิดเช่นนี้บ่อยๆ จะช่วยให้เราสามารถปรับตัวได้ดีในกรณีที่กระแสเกิดการเปลี่ยนทิศอย่างกระทันหัน
เหมือนกับการที่เราขับรถ ถ้าเราขับเป็นแต่เกียร์เดินหน้าเพียงอย่างเดียว ลองนึกดูเอาเองก็แล้วกันนะครับว่า
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราขับเข้าไปติดอยู่ในซอยตัน การพัฒนาศักยภาพทางการคิดก็เช่นเดียวกัน
ต้องเตรียมพร้อมทั้งคิดไปข้างหน้าตามกระแส แต่อย่าลืมคิด ย้อนกลับหลังบ้างเป็นระยะๆ

3. ฝึกคิดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible Thinking)
จากอดีตถึงปัจจุบันเราคงเคยมีประสบการณ์ที่ว่า บางสิ่งบางอย่างที่เราเคยคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ในอดีต
แต่ในปัจจุบันมันเป็นไปได้และเป็นไปแล้ว สิ่งที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ในวันนี้ เหตุการณ์นี้ สถานที่นี้
มันอาจจะเป็นไปได้ในอนาคต ในเหตุการณ์ หรือสภาพแวดล้อมอื่นสถานที่อื่น
ดังนั้นอะไรก็ตามที่เราคิดว่าเป็นไปไม่ได้ อย่าเพิ่งด่วนตัดทิ้งไป
เพราะนั่นเท่ากับเป็นการดับอนาคตแห่งความคิดสร้างสรรค์ของตัวเราเอง

ความคิดสร้างสรรค์แบบนี้ เราสามารถเห็นตัวอย่างได้จากภาพยนต์การ์ตูน หรือภาพยนต์บางประเภทที่เราคิดว่า
มันเป็นไปไม่ได้ แต่เราอย่าลืมว่าความคิดที่เป็นไปไม่ได้เหล่านี้แหละที่จะเป็นตัวจุดชนวนทางความคิดให้กับ
นักวิทยาศาสตร์นำไปค้นคว้าวิจัยเพื่อนำไปสู่ความเป็นไปได้ต่อไป ในอดีตใครเคยคิดบ้างว่าเรื่องการ Copy หรือ
การโคลนนิ่งสัตว์หรือมนุษย์จะเป็นไปได้ ใครเคยคิดบ้างว่ามนุษย์จะมีธุรกิจการท่องเที่ยวในอวกาศ
ใครจะคิดบ้างว่าคนที่อยู่กันคนละโลกสามารถพูดคุยกันแบบเห็นหน้าค่าตาได้เหมือนสมัยนี้
ถ้านำเอาความคิดในลักษณะนี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานจะพบว่า
เรามักจะตกหลุมพรางทางความคิดของเราเองกันอยู่บ่อยๆ พอคิดจะทำโน่นทำนี่ เราก็มักจะถูกขัดขวางด้วย
ความคิดที่ว่ามันทำไม่ได้หรอก หัวหน้าเขาคงไม่มีงบประมาณ ผู้บริหารคงไม่สนับสนุนหรอก
บริษัทนี้เขางกจะตายไป คนไม่พอหรอก ทำยากไม่มีเครื่องมือ ฯลฯ
ความคิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมายกับคนทำงาน สาเหตุที่สำคัญคือ
เรามักจะนำเอาสภาพแวดล้อมภายนอกมาทำลายต้นกล้าแห่งความคิดสร้างสรรค์ของเราเสียเอง ทำให้เราไม่มี
โอกาสได้คิดไปถึงที่สุดว่าจริงๆแล้วที่เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้นั้น จริงๆ แล้วมันเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่

มีผู้เข้าสัมมนาท่านหนึ่งเคยถามผมว่า ถ้าเรามีความคิดออกแบบอะไรสักอย่างหนึ่งแล้ว
และคิดว่ามันเป็นนวตกรรม ใหม่ แต่เราไม่มีเงินทุนที่จะทำธุรกิจ เราจะทำได้อย่างไร ผมก็ถามต่อว่าคุณคิดว่า
จำเป็นหรือไม่ที่การลงทุนจะต้องตามมาด้วยเงินทุนจากกระปุกออมสินของเราเสมอ เขาก็ตอบว่าไม่แน่
แล้วผมก็ถามต่อว่าแล้วทำอย่างไรได้บ้าง เขาก็ตอบว่ากู้เงิน ร่วมทุนกับคนอื่น ขายลิขสิทธิให้กับคนอื่น
แล้วผมจึงถามเพื่อความแน่ใจอีกครั้งว่าที่คุณคิดว่า ความคิดของคุณเป็นไปไม่ได้ในการทำธุรกิจนั้น
จริงๆ แล้วมันเป็นไปได้หรือไม่ เขาก็ตอบว่าเป็นไปได้
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่จะบอกเราว่าคนเราส่วนมากมักจะด่วนสรุปว่าสิ่งที่เราคิดนั้นเป็นไปไม่ได้
หรือเป็นไปได้ยากมาก เพราะเรามักจะยึด ติดกับกรอบการคิดแบบเดิมๆ แบบที่คนทั่วๆไปเขาคิดกัน

4 . ฝึกคิดบนหลักของความเป็นจริง (Thinking Based Principle)
การฝึกคิดแบบนี้คือการคิด วิเคราะห์สิ่งต่างๆ โดยย้อนกลับไปหาหลักความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆว่าคืออะไร เช่น
คนที่สามารถผลิตเครื่องบินได้นั้นจะต้องเข้าใจถึงหลักความเป็นจริงในเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลกก่อนจึงจะ
สามารถออกแบบเครื่องบินได้ ต้องเข้าใจว่าการบินได้นั้น จะต้องมีพลังขับเคลื่อนเท่าไหร่ มีความเร็วเท่าไหร่
จึงจะสามารถหนีออกจากแรงโน้มถ่วงของโลกได้

ถ้าเราพูดถึงการผ่าตัด เรามักจะยึดติดกับมีดเพียงอย่างเดียว แต่หลักความเป็นจริงของการผ่าหรือการตัด หมายถึง
การทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งแยกออกจากกัน ถ้าเรายึดเอาวิธีการเป็นตัวตั้งเราก็จะตอบได้เพียงอย่างเดียวว่า
การผ่าตัด คือการใช้มีด แต่ถ้าเราเอาหลักความเป็นจริงเป็นตัวตั้ง วิธีการเป็นตัวตามแปร
การผ่าตัดอาจจะทำได้มากกว่าการใช้มีด เช่น การใช้ความร้อน ใช้ลวด ใช้กรรไกร ใช้ความเย็น ใช้รังสี
ใช้ความคมของกระดาษ เป็นต้น

5. ฝึกคิดข้ามกล่องความรู้ (Lateral Thinking )
การคิดข้ามกล่องความรู้คือ การนำเอาความรู้ที่เรามีอยู่ในหัวในเรื่องต่างๆ มาคิดไขว้กัน
ยิ่งเรามีกล่องความรู้หลากหลาย โอกาสที่เราจะคิดข้ามกล่องเพื่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ก็มีมากยิ่งขึ้น
ถ้าเรามีกล่องความรู้เพียง 2 กล่อง โอกาสที่เราจะคิดไขว้หรือข้ามกล่องก็มีเพียง 1 ชุด
แต่ถ้าเรามีกล่อง ความรู้ 3 กล่อง โอกาสที่เราจะคิดไขว้กันก็มีมากขึ้นเป็น 2 ชุด
ยิ่งมีกล่องมากเท่าไหร่ จำนวนชุดของความคิดไขว้ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น เป็นทวีคูณ

เราคงเคยได้ยินก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ที่ผู้คิดค้นได้นำเอากล่องความรู้เกี่ยวกับการปรุงก๋วยเตี๋ยวมาผสมกับกล่อง
ความรู้ในการทำต้มยำ(น้ำข้นหรือน้ำใส) เราคงเคยได้ยินผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่าแอร์มุ้งที่เป็นการผสมผสานระหว่าง
กล่อง ความรู้ด้านแอร์กับกล่องความรู้ด้านมุ้ง เราคงเคยได้ยินคนเลี้ยงปลาดุกในห้องเช่าที่เป็นการผสมผสาน
ความคิดระหว่างกล่องความรู้เรื่องห้องเช่ากับกล่องความรู้เรื่องการเลี้ยงปลาในบ่อ ดิน

6. ฝึกคิดแบบแตกหน่อทางความคิด (Germination Thinking)
เป็นการคิดโดยกำหนดจุดเริ่มต้นจากสิ่งที่ เป็นอยู่หรือมีอยู่ในปัจจุบัน
แล้วแตกความคิดออกไปสู่ทิศทางต่างๆ รอบตัว ดังภาพข้างล่างนี้

การคิดสร้างสรรค์แบบนี้จะช่วยให้ง่ายต่อการจัดกระบวนการคิด เพราะเป็นการคิดพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่
แล้วเพิ่มสิ่งใหม่ๆ เข้ามาที่ละเล็กละน้อย
จากตัวอย่างนี้ จะเห็นว่าเมื่อเราคิดแตกหน่อจากปากกาออกไปเป็นปากกาไม่ต้องเติมน้ำหมึกแล้ว
ก็สามารถคิดต่อไปอีกว่าปากกาที่ไม่ต้องเติมน้ำหมึกนั้น สามารถพัฒนาต่อในด้านอื่นๆอีกหรือไม่
เมื่อเราคิดพัฒนาแตกหน่อออกไปเรื่อยๆ เราจะพบว่าความคิดที่หน่อสุดท้าย
อาจจะมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับจุดเริ่มต้น(ปากกา)

การคิดในลักษณะนี้จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคการคิดข้ามกล่องเข้ามาช่วยในการคิดแตกหน่อจากหน่อเดิมไปสู่
หน่อใหม่ๆ และที่สำคัญเราสามารถมองเห็นทั้งกระบวนการคิดและผลลัพธ์ทางการคิดในลักษณะของแผนผัง
ความสัมพันธ์ได้อย่างชัดเจน

จากวิธีการฝึกเพื่อพัฒนาศักยภาพการคิดสร้างสรรค์ดังกล่าว จะเห็นว่าเราสามารถพัฒนารูปแบบการคิดของเราได้
หลายวิธี เพียงแต่เราต้องให้ความสำคัญกับการคิดสร้างสรรค์อย่างจริงจัง นำเอาวิธีการดังกล่าวนี้ไปฝึกคิดกับ
เหตุการณ์ ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เราก็สามารถพัฒนาศักยภาพการคิดให้สูงขึ้นไปได้

ข้อแนะนำเพิ่มเติมที่อยากให้ท่านผู้อ่านนำไปฝึกปฏิบัติ มีดังนี้

1. วิเคราะห์หาปัจจัยเอื้อต่อการคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง
ขอให้ลองทบทวนดูว่าบรรยากาศ สถานที่ เวลาหรือสภาพแวดล้อม แบบใดที่เราน่าจะทำให้เราสามารถใช้
ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ บางคนบอกว่าบรรยากาศใต้ต้นไม้ชายทะเล
บางคนบอกว่าบรรยากาศบนยอดเขาตอนเช้า
แต่ก็มีบางคนเคยบอกผมว่าบรรยากาศในวงเหล้า ความคิดจะแล่นมาก
อันนี้ ก็สุดแล้วแต่ความชอบของสมองของแต่ละคนก็แล้วกันนะครับ เมื่อเราได้ทราบว่าบรรยากาศ สถานที่ หรือ
เวลาแล้ว จะเป็นประโยชน์สำหรับเราในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

บางคนบอกว่าไม่มีโอกาสคิดสร้างสรรค์ เพราะตัวเอง ไม่เคยสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการคิดสร้างสรรค์เลย เช่น
เราบอกว่าเราจะสามารถคิดสร้างสรรค์ได้ถ้าอยู่เงียบๆ คนเดียวใต้ต้นไม้ แต่ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา
เราไม่เคยมีโอกาสอยู่คนเดียวเลย อย่างนี้โอกาสที่จะเกิดความคิด สร้างสรรค์คงจะเป็นไปได้ยาก


2. จัดสรรเวลา เพื่อฝึกความคิดสร้างสรรค์
ขอให้จัดสรรเวลาในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์หรือแต่ละเดือน เพื่อฝึกการคิดสร้างสรรค์บ้าง
อย่างน้อยวันละ 5-10 นาทีก็ยังดี
ศักยภาพการคิดสร้างสรรค์ถือเป็นทักษะที่ต้องการการฝึกฝน เหมือนกับทักษะในด้านอื่นๆ เช่น
เราต้องการเป็นนักฟุตบอลที่เก่ง แต่เราไม่เคยฝึกเตะฟุตบอลเลย อย่างนี้ก็คงจะยาก
เช่นเดียวกันกับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่เราต้องหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ


3. บันทึกผลงานการคิดสร้างสรรค์
เราไม่สามารถฝึกให้มีความคิดสร้างสรรค์เพียงชั่วข้ามคืนเดียว
เราไม่สามารถบอกได้ว่าพรุ่งนี้เราจะมีความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นเลิศ
แต่ระยะเวลาที่ผ่านไปพร้อมๆกับการฝึกฝนเท่านั้น จะบ่งบอกเราได้ว่า
เรามีการพัฒนาระดับความคิดสร้างสรรค์ไปถึงไหน และสิ่งสำคัญที่จะบอกเราได้นั่นก็คือ
บันทึกผลแห่งการคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เราน่าจะบันทึกว่าเมื่อวันที่เท่าไหร่
เราคิดสร้างสรรค์เรื่องอะไร เรื่องนั้นๆเกิดขึ้นได้ อย่างไร วิธีการคิดเป็นอย่างไร
เพราะบันทึกนี้นอกจากจะแสดงให้เราเห็นถึงผลงานการคิดสร้างสรรค์แล้ว
ยังบ่งบอก ถึงพัฒนาการทางการคิดได้อีกด้วย เราสามารถนำเอาผลงานการคิดสร้างสรรค์เมื่อสองปีที่แล้วมา
เปรียบเทียบกับ ผลงานในปีนี้ก็ได้ ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพการคิดสร้างสรรค์ของคนเราจึงไม่ใช่เรื่องยาก
แต่สำคัญอยู่ที่ว่าใครได้ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้มากน้อยเพียงใด คนทุกคนสามารถพัฒนาได้
แต่อาจจะมีคนเพียงไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จ

การพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่สามารถนำพาเราไปสู่การมีชีวิตแบบ "มูลค่าเพิ่ม" ได้
เพราะผลพวง แห่งการคิดสร้างสรรค์สามารถสร้างงาน สร้างชีวิตให้กับคนมาแล้วมากมาย
เราจะเห็นได้จากการเกิดธุรกิจแปลก สินค้าใหม่ๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วอยู่เสมอๆ

ผมมีความเชื่อมั่นว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดจากพรสวรรค์ แต่เกิดจากพรแสวง
นั่นก็คือตั้งใจ เชื่อมั่น หมั่นฝึกฝนและทดสอบตนเองอยู่เสมอ
สิ่งนี้แหละที่จะนำพาเราออก ขึ้นมาจากหุบเหวทางความคิดแบบสั้นๆ
ขึ้นไปสู่ยอดเขาแห่งความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

อ้างอิง : peoplevalue.co.th