สารัญ Creditbank Credit card bank

123

11/30/2552

คิดใหญ่...ต้องคิดเล็ก


คิดใหญ่...ต้องคิดเล็ก
คมคิด: แผนงานของดวงความคิดเป็นของนักคิด แต่คำตอบของลิ้นมาจากนักปฏิบัติ

เพื่อปรับปรุงพัฒนางานและองค์กร
ท่านจะเลือกปรึกษาใครระหว่าง นักวิชาการเจ้าทฤษฎี กับ ผู้ปฏิบัติงานจริง

“ช่วงนี้ เป็นอย่างไรไม่รู้ แลดูพนักงานรู้สึกเฉยๆ อยู่ไปเรื่อยๆ ทำงานพอให้ผ่านไปวันๆ”
วรรณฤดีกล่าวขณะมือแตะคางเหมือนกำลังคิดอะไรอยู่

“ความสดใหม่เริ่มต้นที่ความคิด” ยุทธศักดิ์พูดให้ฉุกคิด
“ดูตัวอย่าง พอเวลาผ่านไป บริบทเปลี่ยนไป
รัฐธรรมนูญที่ว่าดี ยังต้องปรับปรุงให้สดใหม่ และผ่านประชามติเพื่อรับรองว่าเหมาะสมใช้การได้ จริง”

“ใช่ซิ น่าจะลองให้พนักงานเสนอความคิดใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงตนเองและบริษัทดูบ้างเหมือนในเล่มนี้”
วรรณฤดีคิดออก พร้อมยื่นหนังสือ Idea Are Free ของ Alan G.Robinson & Dean M. Schroeder ให้ดู

เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ในองค์กรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เราอาจกระตุ้นความรู้ที่ฝังลึก (Tacit knowledge) ออกมาใช้
ด้วยการให้ความสำคัญกับความคิดใหม่ๆ จากพนักงานเพื่อพัฒนางาน องค์กรและสังคมได้

ผู้บริหารในองค์กรที่ประสบความสำเร็จ จะเห็นคุณค่าบุคลากรทุกระดับ
เปลี่ยนบทบาทตนเองจากผู้สั่งการ (Commander) และแก้ไขปัญหาทุกอย่างด้วยตนเอง
มาเป็นผู้ส่งเสริม (Facilitator) และผลักดัน (Mobilizer) บุคลากรให้เสนอความคิดดีๆ ให้มากที่สุด
เพื่อช่วยกันพลิกโฉมองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมและได้ผล ด้วยตระหนักว่าความคิดแม้จะเล็ก
แต่หากกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ที่รู้จริง ย่อมสร้างความได้เปรียบในการพัฒนาและแข่งขันอย่างมาก


ท่านส่งเสริมให้พนักงานเสนอความคิดดีๆ เพื่อปรับปรุงองค์กรอย่างไรบ้าง
มาสำรวจผ่านดัชนีการบริหารด้วยกัน

ดัชนีการบริหาร
ในช่วงที่ผ่านมา ท่านส่งเสริมให้เกิดความคิดดีๆ ในองค์กรเป็นอย่างไรบ้าง

กรุณากาเครื่องหมายหน้าข้อที่เห็นว่าตรงกับตัวท่าน

_____ ไม่ว่าจะเป็นความคิดเล็กหรือใหญ่ หากจะเกิดประโยชน์ต่องานและองค์กร ฉันรับฟังเสมอ
_____ ฉันมีวิธีกระตุ้น ส่งเสริม รวบรวมและพัฒนาความคิดใหม่ๆ จากทีมงานอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
_____ ฉันได้รับความคิดใหม่ๆ จากพนักงานทุกสัปดาห์

ข้อเสนอแนะ : หากท่านไม่ได้ ?ในข้อใดข้อหนึ่ง อาจใช้ “ทักษะคิดมุ่งพัฒนา” ช่วยได้


ทักษะคิดมุ่งพัฒนา (Development-focused thinking)
ทักษะนี้เป็นการส่งเสริม และเก็บเกี่ยวความคิดของบุคลากรในองค์กรมาใช้ ประโยชน์ให้มากที่สุด
ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วม รู้สึกภาคภูมิใจ
อีกทั้งสร้างความผูกพันเหนียวแน่นและเอกภาพในองค์กรมากยิ่งขึ้น
ทักษะนี้ประกอบด้วย 3 ขั้น ดังโมเดลและคำอธิบายถัดไปนี้

1.คาดหวังความคิดใหม่ๆ ทุกวัน
เป็นการตั้งเป้าหมายกับตนเอง และบุคลากรทุกคนร่วมกันว่าจะหาวิธีการหรือความ คิดใหม่ๆ
ที่จะปรับปรุงตนเอง ทีมงาน ระบบวิธีทำงาน และสภาพแวดล้อมในที่ทำงานอย่างไรให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
ซึ่งจะทำให้พนักงานทุกคนทำงานอย่างมีสติ และคิดเชิงบวกเพื่อพัฒนางานอยู่เสมอ
อาจตั้งเป้าหมายว่า “ฉันจะหาวิธีใหม่ๆ ในการทำงานให้ดีขึ้นอย่างน้อยวันละ 1 อย่าง”

โดยไม่ต้องกังวลว่าความคิดจะไม่ดี ไม่เข้าท่า
เพราะความคิดที่ดีมักเริ่มต้นจากดูไม่เข้าท่ามาก่อน แล้วนำมาพัฒนาต่อยอดภายหลัง

2.ถามเชิงบวก
เป็นการตั้งคำถามในระหว่างปฏิบัติงานอยู่เสมอๆ
เพื่อการปรับปรุงผลการปฏิบัติงาน ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
อันส่งผลดีต่อองค์กรและสังคมในที่สุด ยกตัวอย่างคำถาม 3 หมวด ดังนี้

คำถามสำหรับบุคลากรทุกระดับ
ถ้าเปลี่ยนได้ อยากให้การทำงานเป็นอย่างไรในวันนี้
หากย้อนเวลากลับไปได้ จะทำอะไรเพิ่มเพื่องานจะออกมาดียิ่งขึ้น
วันนี้มีอะไรที่รู้สึกไม่ได้ดังใจ อยากให้เป็นอย่างไร
ฉันจะสนุกและมีความสุขในการทำงานมากขึ้น หาก...
ฉันอยากให้งานที่ทำ สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมมากยิ่งขึ้น โดยการ...

คำถามสำหรับผู้บริหาร
ทำอย่างไรให้ทีมงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทำอย่างไรให้ผลผลิตที่ออกมา ลดค่าใช้จ่ายลงได้อีก ปริมาณสูงขึ้น คุณภาพได้มาตรฐาน

คำถามสำหรับผู้ปฏิบัติงาน
วันนี้เกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้น ทำให้ได้เรียนรู้อะไร จะป้องกันอย่างไร
ทำอย่างไรให้งานเสร็จออกมา รวดเร็วขึ้น ประหยัดขึ้น สะอาดขึ้น เป็นระเบียบขึ้น
ฉันและเพื่อนจะทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หาก...

3.พัฒนาและทดลองใช้
เป็นการรวบรวมความคิดใหม่ๆ มาประเมิน ปรับปรุงและนำไปทดลองใช้จริง ซึ่งควรทำอย่างรวดเร็ว
โดยทุกความคิดควรได้รับการยกย่องให้เกียรติหรือรางวัลตามเหมาะสม
ไม่ว่าจะสามารถนำไปใช้ได้จริงมากน้อยเพียงใดก็ตาม
เพื่อสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจ อันนำมาซึ่งการผูกพันเหนียวแน่นต่อกัน (Cohesiveness)
และเอกภาพ (Unity) ในองค์กร

“ล่าสุด มีใครเสนอความคิดใหม่ๆ ให้ท่านบ้าง ท่านขอบคุณเขาหรือยัง”


โดย น.พ.ยุทธนา ภาระนันท์
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/25/WW73_7301_news.php?newsid=90812
ภาพจาก http://www.123rf.com/photo_2791149.html