สารัญ Creditbank Credit card bank
123
11/28/2552
ธรรมชาติของการนินทา
ธรรมชาติของการนินทา
ความอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวชีวิตของบุคคลอื่น เป็นความรู้สึกพื้นฐานรูปแบบหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนมี
คนบางคนกระหายที่จะรู้มาก แต่บางคนก็แทบจะไม่อยากรับรู้ข้อมูลอะไรเลย
เราคงสังเกตเห็นความต้องการลักษณะนี้ ในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับว่ามีเกร็ดข่าวคนดัง
ข่าวซุบซิบของนักการเมือง ดาราภาพยนตร์ แก่-หนุ่ม-สาวไฮโซ หรือนักกีฬา
และข่าวอะไรก็ตามของบุคคลดังกล่าวเหล่านี้ จะเป็นเรื่องฮอตที่คนหลายคนสนใจ
หรือเวลาเราไปงานสังสรรค์ เรามักจะเห็นคนร่วมงานพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน
แต่ถ้าเราเดินเข้าไปใกล้กลุ่มสนทนา เราก็คงจับความได้ว่า
บุคคลที่คนกลุ่มนั้นกำลังกล่าวขวัญถึงหาได้อยู่ ณ ที่นั้นไม่
นักจิตวิทยาได้สำรวจพบว่า ในวันหนึ่งๆ คนเราใช้เวลาประมาณ 30% ของเวลาสนทนาทั้งหมด พูดถึงบุคคลอื่น
และถ้าเป็นกรณีบุคคลที่ทำงานในบริษัท หรือหน่วยงานเดียวกัน 80% ของเวลาสนทนาจะเป็นการซุบซิบนินทา
และประมาณครึ่งหนึ่งของเรื่องที่พูด จะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สุขภาพ และการเงิน
อีก 30% เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสภาพการทำงานหรือเรื่องปกปิด
เช่น ใครจะได้เลื่อนขั้นและใครจะได้ตำแหน่งอะไร เป็นต้น
และสำหรับเหตุผลที่คนเราชอบพูดเรื่องปกปิดนั้น นักจิตวิทยาได้พบว่า
คนที่พูดเรื่องลับส่วนใหญ่มักใช้ข้อมูลที่ตนรู้ ในการกวาดต้อนความสนใจจากผู้ฟัง
เพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกว่าตนมีความสำคัญ
แต่ การซุบซิบก็มีด้านดีเหมือนกัน
F. Wilson แห่ง Chartered Institute of Personnel and Development ในอังกฤษได้พบว่า
เวลาบริษัทหรือหน่วยงานมีปัญหา หากเจ้าหน้าที่หรือพนักงานได้พูดถึงปัญหานอกเวลาทำงาน
ข้อมูลข่าวสารที่แลกเปลี่ยนกัน อาจทำให้ผู้บริหารระดับสูงรับรู้และนำไปแก้ไข ก่อนที่ปัญหาจะระเบิดได้
ซึ่งถ้าเป็นบริษัทที่มีการบริหารดี ปัญหาลักษณะนี้หรือการซุบซิบเช่นนี้จะไม่เกิด
เพราะลูกจ้างหรือพนักงานทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเปิดเผย
และเมื่อใดที่ผู้บริหารบริษัทไม่สนใจไยดี
ความรู้สึกหรือความเห็นของลูกจ้าง การซุบซิบนินทาก็จะแพร่ระบาดทันที
การไม่มีข้อมูล การไม่สื่อสารกันจึงเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดการนินทาว่าร้ายในองค์กร
ตามปกติไม่มีใครชอบคนที่ชอบนินทา นายจ้างเองก็มักจะไม่ไว้ใจคนที่เป็นฆ้องปากแตก
และมักจะไม่เลื่อนตำแหน่งหรือขั้นให้
บริษัทในประเทศอังกฤษประมาณ 10% มีแถลงการณ์ห้ามลูกจ้างบริษัทนินทา
มีบริษัท 4% ที่ได้เคยไล่ลูกจ้างออกเพราะนินทาคนมากไป ซึ่งมีผลทำให้บรรยากาศทำงานของคนอื่นๆ เสีย
ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจเรา นิสัยนินทาเป็นพฤติกรรมลบที่ไม่ควรมี แล้วเหตุใด มนุษย์ทุกคนจึงกระทำ
ในการตอบคำถามนี้ นักจิตวิทยาได้ให้เหตุผลว่า
การนินทาเป็นพฤติกรรมจำเป็นรูปแบบหนึ่งของมนุษย์ ในการดำรงชีพในสังคม
เพราะเราต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลอื่นว่า เขาเป็นคนอย่างไร ร้ายหรือดี
การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่คนแต่ละคนรู้ จะทำให้เราทุกคนสามารถวางตัวหรือป้องกันตัวได้ดีขึ้น
และเมื่อถึงเวลาที่เราเผชิญ บุคคลที่คนอื่นเขานินทา เราก็จะรู้ดีว่าเราต้องเดินหมากอย่างไร
และข้อดีประการหนึ่งของการนินทาคือ
ทำให้คนหลายคนมิกล้าประพฤติชั่วหรือทำบาป เพราะกลัวถูกนินทานั่นเอง
N. Nicholson แห่ง London Business School ได้เคยรายงานบทบาทและความสำคัญของการนินทาในวารสาร
Psychology Today ฉบับเดือนพฤษภาคม/มิถุนายน พ.ศ. 2545 ว่า
ใน สมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์ใช้ชีวิตร่อนเร่พเนจรในทุ่งหญ้า หรือป่าอย่างโดดเดี่ยวและแสวงหาอาหารไปวันๆ
การไม่มีภาษาพูด หรือภาษาเขียนสำหรับใช้ในการสื่อสารใดๆ ทำให้โลกยุคนั้น เงียบ ปราศจากการซุบซิบนินทา
แต่เมื่อมนุษย์เลิกวิถีชีวิตแบบร่อนเร่ และหันมารวมกันอยู่เป็นหมู่เหล่า มีภาษาและสนทนาค้าขายกัน
สมองมนุษย์ได้เริ่มมีวิวัฒนาการ เพื่อช่วยให้มนุษย์รู้ใจและเข้าใจบุคคลอื่น
ซึ่งความสามารถเช่นนี้เป็นเรื่องจำเป็น สำหรับการป้องกันตัวของมนุษย์เอง
และความพยายามนี้ได้ผลักดันให้มนุษย์ระแวดระวังฐานะ และสภาพทางสังคมของตน ตลอดเวลา
และมนุษย์ก็ได้พบว่า ตราบใดที่ตนเข้าใจความซับซ้อนของโครงสร้างทางสังคมของตนดี
ตนก็จะประสบความสำเร็จสูงในชีวิต คือมีสุขภาพดี มีฐานะดี และมีความสุข แต่สังคมมนุษย์นั้นมีหลายมิติ
ดังนั้น มนุษย์จึงเปรียบเทียบตนกับบุคคลอื่นในมิติต่างๆ เช่น รูปร่าง นิสัย การศึกษา และฐานะ
แต่เมื่อมิติเหล่านี้เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ดังนั้น มนุษย์จึงมีงานเปรียบเทียบที่ตนรู้สึกว่า ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพื่อให้รู้สถานการณ์ของตนในสังคม สัมพัทธ์กับบุคคลอื่น โดยใช้การเล่าสู่กันฟังนั่นเอง
สำหรับเหตุผลที่ชักนำให้คนนินทานั้น Nicholson คิดว่า
เวลานาย ก. บอกนาย ข. เกี่ยวกับเรื่องของนาย ค. ที่นาย ข. เกลียดเข้าไส้ ถึงแม้ ค. จะไม่รู้อีโหน่อีเหน่
แต่การเล่าของ ก. ทำให้ ค. เสียหายเรียบร้อย ซึ่งการที่ ก. ทำเช่นนั้นก็เพื่อต้องการบอก ข. ว่า เขาและ ข. เป็นเพื่อนกัน
และ ข. เป็นฝ่ายเดียวกับเขา และในขณะเดียวกัน ก. ก็ต้องการบอก ข. ให้คิดว่า
เขามีความสำคัญที่ได้ล่วงรู้อะไรดีๆ เกี่ยวกับ ค. ที่ ข. ไม่รู้มาก่อน
เหตุการณ์นี้ ถ้ามองย้อนกลับ ข. ก็คงอดคิดไม่ได้ว่า ก. ก็อาจนำเรื่องของ ข. ไปบอกเล่าคนอื่นได้เช่นกัน
การวิจัยเรื่องการนินทาทำให้เรารู้ว่า คนที่จะกล่าวร้ายป้ายสีระดับชาติได้นั้น
ต้องมีความชำนาญและทักษะในการเล่ามาก
ลีลาบางคนอาจมีท่าทางประกอบ และในขณะที่ เผา คนอื่นไปนั้น บางครั้งก็ทำทีสงสารเขาไปด้วย
และคนที่ชอบนินทาคนอื่น มักคิดว่าตนเองมีจริยธรรมสูง อีกทั้งเป็นคนที่รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น
การสำรวจพฤติกรรมนินทายังแสดงให้เห็นอีกว่า ผู้หญิงและผู้ชายชอบนินทาพอๆ กัน
แต่คนทั่วไปมักคิดว่า ผู้หญิงชอบนินทามากกว่าผู้ชาย และนินทาได้สีสันยิ่งกว่า
ส่วนเนื้อหาที่คนชอบนินทานั้น
สำหรับผู้ชายก็ชอบพูดถึงข่าวการเมือง ข่าวกีฬา ความก้าวหน้าในการทำงาน ทั้งนี้เพราะผู้ชายชอบแข่งขัน
ส่วนผู้หญิงชอบนินทาบุคคลในสังคม และเรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรม
เพราะผู้หญิงต้องการมิตรภาพ และไม่ต้องการคู่แข่งขัน
ส่วนคนที่ถูกนินทานั้นเล่า ก็มีข้อคิดหลายประการว่า ในเมื่อโลกนี้ไม่มีใครที่ไม่ถูกนินทา
ดังนั้น เวลาถูกใส่ร้าย คนหลายคนจึงพยายามเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นไปตามรูปแบบที่คนอื่นๆ ต้องการ
เพื่อให้คนอื่นรักพอใจและให้คนอื่นเห็นเขาเป็นคนดีที่หนึ่งเลย
แต่ชีวิตของเขาก็จะน่าปวดหัว เพราะเขาต้องใช้ชีวิตตามที่คนอื่นบอกว่า เขาต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้
ดังนั้น ทางเลือกสำหรับเรื่องนี้ จึงมีว่าเราน่าจะมองตัวเราเองด้วยสายตาเราหรือสายตาคนอื่น
ถ้าเรามองตัวเองด้วยสายตาคนอื่น เพราะคนอื่นเห็นเราในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น
ถ้าขณะที่เขาเห็นเรา เรากำลังทำความดี เราคือเทพบุตร แต่ถ้าเรากำลังทำชั่ว เราคือนางมารร้าย
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า คำกล่าวต่างๆ เกี่ยวกับเราที่หลุดจากปากคนอื่น แสดงธาตุแท้ของเราน้อยมาก
ในเมื่อคนเราบางคนเวลาไม่ชอบใจใคร
ก็มักจะพลิกพลิ้วชิวหาเป็นอาวุธ สร้างคำพูดหรือนินทาว่าร้าย จนคนที่ถูกพูดถึงรู้สึกเจ็บจนอยู่ไม่เป็นสุข
และนี่คือจุดมุ่งหมายสำคัญของการนินทา
ดังนั้น เราก็ควรรู้ว่า จะไม่มีใครทำร้ายจิตใจเราได้ ถ้าเราไม่ให้น้ำหนัก หรือความสำคัญในคำพูดของคนคนนั้น
เราเป็นเราที่ไม่มีใครเหมือน และเราไม่ต้องการจะเหมือนใคร
เพราะความพยายาม ที่จะให้ใครเป็นคนสมบูรณ์แบบในสายตาของคนทุกคนตลอดเวลานั้น เป็นไปไม่ได้
ดังนั้น การนินทาเล็กๆ น้อยๆ ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งข้อดี
เพราะเราทุกคนก็รู้ดีว่า ถ้าไม่มีการนินทา (บ้าง) บรรยากาศการพูดคุยกันก็ไม่มันส์จริงไหมครับ
ที่มา http://www.ipst.ac.th/thaiversion/publications/in_sci/gossip.html
ภาพจาก http://desiringtobeagodlywoman.blogspot.com/2007_04_01_archive.html