สารัญ Creditbank Credit card bank

123

11/30/2552

ทำไมงานไม่ได้ตามเป้า


ทำไมงานไม่ได้ตามเป้า
ยิ่งเศรษฐกิจงวดขึ้นมาเรื่อยๆ คนยิ่งเครียดกันง่ายขึ้น
KPI บางตัวที่เดิมอาจจะถึงเป้าก็ได้ไม่ถึงก็ได้ เริ่มต้อง ถึงให้ได้มากขึ้น
เพราะจุดต่างของยอดขายหรือต้นทุนเพียงเล็กน้อย อาจหมายถึงความอยู่รอดขององค์กร
การทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด จึงเป็นความจำเป็นพื้นฐาน

"ทำไมงานไม่ได้ตามเป้า" อาจเป็นคำถามที่ คนถามก็เบื่อที่จะถาม คนตอบก็ไม่อยากตอบ
โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องมานั่งประเมินผลกัน ช่วงเวลานั้นเหมือนถูกจับใส่ห้องเย็นกันทั้งคู่
เครียดกลับบ้านกันเป็นแถวทั้งผู้ถูกประเมินและ ผู้ประเมิน
จนบางคนเปรยว่า จะดีไม่น้อยถ้าเราทำงานกันไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องมาประเมินผลลัพธ์กัน
ก็พูดขำๆ กันคลายเครียดในสถานการณ์ที่ ไม่เป็นจริง

ถ้าเรารับรู้ข้อมูลการดำเนินการมาตลอดระยะเวลาการทำงาน
เราก็คงจะช่วยกันแก้ไขให้เข้าลู่ทางมากที่สุดใช่หรือไม่
จะถึงเป้าหรือไม่ถึงเป้า ก็รับรู้ร่วมกันทั้งหัวหน้าลูกน้องอยู่แล้วใช่หรือไม่
ไม่ใช่หัวหน้ามานั่งตกใจนั่งเครียดกับผลที่เกิดขึ้นสุดท้าย

บางองค์กรจึงใช้ management cockpit หรือมีข้อมูลโชว์ให้เห็นตลอดเวลาในห้องทำงานเลย
ข้อมูลไหนเป็นอย่างไร อะไรที่คะแนนตกลงไปจะขึ้นสีเหลืองสีแดงเตือน
บางองค์กรไม่ต้องลงทุนขนาดนั้นก็อาจให้มีการรายงานเป็นระยะๆ ราย ไตรมาสบ้าง รายเดือนบ้าง รายวันบ้าง
ซึ่งแนวนี้เราเรียก monitoring คือมีการรายงานขึ้นมาเป็นระยะๆ จากผู้ใต้บังคับบัญชา

ถึงกระนั้นก็ยังมีเทคนิคอื่นๆ ที่จะทำให้เราสามารถควบคุมการทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้
ก่อนจะถึงการประเมินผลในตอนสุดท้าย นั่นคือ การติดตามงาน (following-up)
เทคนิคชื่อเดิม ที่เราคุ้นเคยแต่ขาดไม่ได้สำหรับการเป็นผู้บริหาร

ถึงกระนั้นผู้เขียนก็ยังพบผู้บริหารจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้ติดตามงานมากพอ
อาจด้วยสาเหตุว่าเวลาไม่มีบ้าง ลืมบ้างเพราะงานยุ่ง สุดท้ายก็คือผลงานออกมาไม่ได้ตามเป้าหมาย

ในทางกลับกันถ้าได้รับข้อมูลความคืบหน้าไม่ว่าจาก monitoring หรือ following-up
ก็จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
ปรับกลยุทธ์หรือแม้แต่ระบบให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ได้

วิธีการติดตามงานโดยทั่วไปก็คือ
การเดินเข้าไปคุยกับลูกน้อง โทรศัพท์ หรืออีเมล์ถามความคืบหน้าของงานจากลูกน้องโดยตรง
ซึ่งบางครั้งการติดต่อกับลูกน้องนี้ทำให้ลูกน้องรู้สึกอึดอัด ไม่พอใจ หาว่ามาจับผิดก็มี
หรือไม่ก็ต่อว่ากลับว่าเดี๋ยวเสร็จแล้วไปรายงานเอง
เนื่องจากหัวหน้าเดินเข้าไปถามด้วยสีหน้าตึงเครียด และน้ำเสียงเข้มว่า "เสร็จหรือยัง"
ยิ่งถ้าเท้าสะเอวยืนค้ำหัวด้วยแล้ว ยิ่งดูวางอำนาจจี้ทวงงานได้ชัดเจนมากขึ้น
วิธีนี้...การติดตามงานกลายเป็นการไปทำร้ายขวัญกำลังใจลูกน้อง เสียอารมณ์กันเปล่าๆ
ถ้าติดตามแบบนี้ไม่ติดตามดีกว่า

วิธีการติดตามงานที่ละเอียดอ่อนขึ้น คำนึงถึงจิตใจของผู้ถูกติดตามมากขึ้น
จะช่วยให้ได้รับรู้ความคืบหน้าของงาน ไปพร้อมกับสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้องได้
ในบางจังหวะเมื่อเราติดตามงานแล้วพบว่าลูกน้องทำได้ดี เราก็สามารถใช้จังหวะนี้ "ชม" หรือให้กำลังใจได้ทันที
เป็นการจูงใจลูกน้องไปในตัว แต่ในขณะที่เรา พบว่าลูกน้องติดขัดในการทำงาน เราก็สามารถช่วยสนับสนุน
ส่งเสริมเพิ่มได้ เรียกว่า management by support หรือการบริหารด้วยการสนับสนุนค้ำจุน

เราสามารถสนับสนุนได้ทั้งคนที่ไม่พอ เงินถ้าเขาต้องใช้เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ
หรือแม้แต่ความรู้ที่เขาไม่มี เราอาจจะสอนงานเพิ่มเติมให้หรือส่งเขาไปเรียนรู้ที่อื่น
เหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้เขาดำเนินงาน ได้บรรลุเป้าหมายมากขึ้น

บางครั้งที่ผู้บริหารเพียงสั่งงานไป แล้วไม่ได้ติดตามงาน ปล่อยให้ลูกน้องงงหรือต่อสู้ด้วยตัวเอง ทำสำเร็จก็ดีไป
บางครั้งเขาก็หาทรัพยากรต่างๆ เองไม่ได้ ติดข้อจำกัดต่างๆ งานเลยพลอยเสียไปไม่ได้ตามเป้า

บางท่านอาจถาม "แล้วทำไมไม่มาบอกเราล่ะ ถ้าติดขัดอะไร"
แหมคุณขา ถ้าเขามาบอกเราถือว่าเราได้ลูกน้องเก่งไป รู้จักมาแจ้งหัวหน้าเมื่อเวลาควรต้องแจ้ง
แต่บังเอิญว่าลูกน้องหลายคน ไม่กล้าจะบอกหัวหน้าเมื่อติดปัญหาอะไร ด้วยหลายสาเหตุ เช่น
อยากลองแก้ปัญหาดูเองก่อน ทำให้เต็มที่ก่อนไม่ได้จริงๆค่อยแจ้งหัวหน้า
(แต่กลายเป็นว่าจังหวะเวลาที่รอนั้นอาจนาน เกินไป ทำให้ไม่ทันการณ์แล้ว)
หัวหน้ายุ่งไม่อยากรบกวน (เลยปล่อยให้เรื่องล่วงเลยไปจนเกิดปัญหา)
ไม่กล้าคุยกับหัวหน้าตรง เพราะบอก ทีไรก็โดนดุกลับมาทุกที หรือไม่หัวหน้าก็ไม่ช่วยตัดสินใจอะไร ฯลฯ
เราจึงควรมีการติดตามงานเองจากฝั่งของผู้บริหารเองด้วย
ไม่เพียงรอการรายงานจากลูกน้องแต่อย่างเดียว หรือรอผลสุดท้ายตอนประเมิน

บางคนบอกว่าไม่ได้ตามงานก็เพราะลืมบ้าง ยุ่งบ้าง หัวหน้าไฮเทคหลายคนก็ใช้โปรแกรม Microsoft Outlook
หรือ Lotus Note ที่อยู่ ในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่อยู่แล้ว วิธีการติดตามงานก็ง่ายมาก
เริ่มตั้งแต่ตอนกระจายงานออกไป สั่งงานโดยลงในฟังก์ชัน Task หรืองานของเรา (New task)
แล้วส่งมอบหมายงานออกไปให้ลูกน้องโดยผ่านอีเมล์ (Assign task)
งานที่เราส่งออกไปก็จะไปเข้ากล่อง inbox ของลูกน้องที่ใช้โปรแกรมนี้เหมือนกัน
เมื่อเขาคลิกรับงาน (accept) งานที่เราส่งไปก็จะไปขึ้นอยู่ในกล่องงานของเขาอัตโนมัติ
เราจะแนบไฟล์งานที่เกี่ยวข้องไปด้วยก็ได้ ใส่วันที่ต้องส่งด้วยก็ได้
เราก็จะมีรายการงานที่มอบหมายไปให้ลูกน้องแต่ละคนทั้งหมด ที่เครื่องเราด้วย เวลาเราจะติดตามงานก็จะง่ายขึ้น
ป้องกันการลืมว่าสั่งงานอะไรใครไป ต้องส่งเมื่อไหร่ ใครไม่ได้ใช้ก็ไม่เป็นไรนะคะ จดลงในกระดาษก็ได้ค่ะ

แต่ที่สำคัญไม่ว่าจะใช้วิธีใด อย่าลืมนะคะว่าลูกน้องของเรานั้นเป็นคน..มีความรู้สึกนึกคิด
ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารที่เป็นการทำตัวเหนือผู้อื่นก็ดี วางอำนาจก็ดี
มีผลทำให้เกิดความขุ่นมัวไม่พอใจกันได้ง่ายๆ
แม้แต่การส่งอีเมล์กัน ภาษาที่ใช้อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้
เพราะมองไม่เห็นหน้ากัน ไม่รู้ว่าหมายความว่าอย่างไรกัน
แต่ บางเรื่องถ้าละเอียดอ่อน ควรพบกันอธิบายงานกันจนเข้าใจซักถามกันถ่องแท้ก่อนแล้วจึงส่งงานทาง Task
หรือ อีเมล์ตามเป็นบันทึก มิเช่นนั้นอาจเข้าใจผิด พาลให้งานหยุดนิ่งได้เหมือนกัน

เรามาลองติดตามงานกันให้มากขึ้น
รับฟังปัญหาหรืออุปสรรคที่ลูกน้อง อาจพบระหว่างงานและร่วมแก้ไขไปด้วยกัน
น่าจะช่วยลดคำถาม ไม่พึงประสงค์ของเราลงไปได้..ทำไมงานไม่ได้ตามเป้า


โดย ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ
ประชาชาติธุรกิจ
ที่มา http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q3/2007august30p8.htm
ภาพจาก http://abcnews.go.com/Business/Economy/

บันได 9 ขั้น พิชิตชีวิตแห่งงาน


บันได 9 ขั้น พิชิตชีวิตแห่งงาน
ในยุคสมัยนี้ การหางานทำ หรือการเปลี่ยนงาน เป็นสิ่งที่ทำได้ลำบาก เพราะขณะที่เศรษฐกิจยังไม่พื้นตัวนั้น
ผู้ที่มีงานทำอยู่แล้ว ก็ต้องการย้ายงาน เพื่อเพิ่มรายได้ ให้เพียงพอกับรายจ่ายที่ต้องแบกในแต่ละเดือน
ขณะเดียวกัน ผู้ที่สำเร็จการศึกษา ก็เพิ่มขึ้นมาทุกปี ทำให้งานที่มีอย่างจำกัด มีผู้แข่งขันมากยิ่งขึ้น

แล้วเราจะทำอย่างไร ให้ได้งานทำที่เหมาะสม เป็นไปดังฝัน (บางคนขอแค่มีงานทำก็เพียงพอแล้ว)

การเตรียมตัวที่ดี ย่อมทำให้ได้เปรียบกว่าผู้ที่เตรียมตัวไม่เพียงพอ
เพราะคำว่า โอกาสและจังหวะ มันไม่ผ่านเข้ามาในชีวิตคนเราบ่อยครั้ง
ดังนั้น เราจึงต้องพยายามเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง ด้วยการเตรียมตัวที่ดี
และคว้าให้ทันเมื่อจังหวะมาถึง ด้วยการเตรียมตัวที่ดีเช่นกัน

1. ถามผู้มีประสบการณ์ :
คำว่าผู้มีประสบการณ์ ตีความได้กว้าง เพราะรวมรุ่นพี่ รุ่นพ่อ รุ่นน้า รุ่นยาย
และผู้ที่สามารถจะแนะนำในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อเราได้ ทั้งการเตรียมตัว ตำแหน่งงานที่ว่าง
หรือแม้กระทั่ง งานในฝัน ที่ความจริงแล้ว คุณก็ยังหามันไม่เจอซักที

ขอให้กล้าหาญและยอมรับกับความเจ็บปวดในคำตอบ ที่อาจจะไม่เป็นไปตามสิ่งที่คุณคิด
แต่มันอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคุณในอนาคตได้ แม้การเตรียมตัวขั้นที่ 1 นี้ จะค่อนข้างเป็นนามธรรม
แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ใครที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีหน่อย จะได้เปรียบในข้อนี้ไป
(www.ask.com, http://www.about.com, http://www.whatis.com)


2. สร้างเรซูเมให้สมบูรณ์ :
ไม่ว่า จะเป็นผู้จบใหม่ หรือ มีงานทำแล้ว ก็ควรมีเรซูเม ด้วยกันทั้งนั้น
เพราะมันคือ สิ่งที่จะบอกให้ผู้จ้างงานทราบว่า เรามีคุณสมบัติเพียงพอหรือไม่

ถ้าเป็นผู้จบใหม่ ก็นำประสบการณ์ จากการเรียนมาเขียน ทั้งกิจกรรม และผลงานที่มี
แต่ถ้ามีงานทำแล้ว ก็ให้ลดผลงานช่วงเรียนลง ให้เหลือแต่ประสบการณ์ทำงานจริงๆ
และปรับปรุงเรซูเมให้ทันสมัย อยู่เสมอ

ศาสตร์ในการเขียนเรซูเมก็สำคัญ การเขียนให้สะอาด ให้ชัดเจนและน่าสนใจ ไม่ใช่ของง่าย
ซึ่งหลายๆคน ต้องเขียนหลายๆครั้ง จนได้เรซูเมที่สวยงามในที่สุด
แต่ก่อนที่จะสวยงาม ถ้าคุณไม่เริ่มเขียน แล้วเมื่อไหร่จะสมบูรณ์
ถ้าไม่กล้าถามบุคคลในข้อ 1 หนังสือหนังหา และแหล่งความรู้มีอยู่ทั่วไป
โดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ต (www.resume.com, http://www.provenresumes.com )ไปหามาศึกษาได้
(www.taos.com/working/tips.html)


3. ส่งเรซูเม :
ถ้าคุณต้องการหางาน แล้วไม่ส่งเรซูเมไปซะที แล้วเมื่อไหร่ จะได้งาน จริงมั้ย โดยก็ดูจากหนังสือพิมพ์
หน้าประกาศรับสมัครงาน กรมการจัดหางาน บริษัทล่าค่าหัว(www.HeadHunter.net)ต่างๆ
หรือถ้าจะให้ดี ดูทันสมัย ก็สมัครงานผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีมากมายทั้งในบ้านเรา และต่างประเทศ
โดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ตนั้น(www.careerbuilder.com, http://www.flipdog.com,www.nationejobs.com,
http://www.jobsdb.com,www.jobpilot.co.th) มีความพิเศษอย่างยิ่งตรงที่ คุณสามารถค้นหางานได้รวดเร็ว
เหมาะสมกับคุณสมบัติ และเลือกงานได้มากยิ่งขึ้น เพราะเวบไซต์ที่มีบริการให้เราไปสมัคร(มีทั้งฟรีและไม่ฟรี)
พร้อมกับกรอกรายละเอียด และเรซูเมทิ้งไว้(www.webdeveloper.com)
จากนั้น ก็เข้าโปรแกรมค้นหางานตามที่เราตั้งขอบเขตไว้ จากนั้น เราก็เลือกตำแหน่งที่ต้องการ
แล้วสมัครงานผ่านเวบไซต์นั้นโดยตรง

หรือ อาจเข้าไปที่เวบไซต์เป้าหมายได้โดยตรง
ซึ่งปัจจุบัน บริษัทส่วนใหญ่ มักจะมีหน้าประการรับสมัครงาน(Career, Oppotunities) ของตนเองอยู่เสมอ
ซึ่งหากเราสนใจตำแหน่งไหน ก็สมัครได้ทันที รวดเร็วและประหยัด


4. ขัดเกลาจดหมายปะหน้า :
โดยส่วนใหญ่ เมื่อมีต้องการสมัครงาน ต้องมีจดหมายปะหน้า หรือจดหมายสมัครงานไปควบคู่กับเรซูเมเสมอ
ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้การสมัครผ่านอินเทอร์เน็ตจะให้ความสำคัญกับเรซูเมเป็นหลัก
แต่แทบจะทุกไซต์ก็ต้องการจดหมายปะหน้าเช่นกัน เพื่อบอกให้นายจ้างทราบว่า เรามีจุดประสงค์อะไร
มีบุคลิกลักษณะเช่นไร ต้องการอะไร ฯลฯ ก็บรรเลงได้เต็มที่ (แต่ต้องดูดี)
(www.careercity.com/content/cvlttr/index.cfm, http://www.careerlab.com/letters/)

หลักการเขียนเล็กๆน้อยๆ ก็คือ เขียนให้เป็นธรรมชาติ บอกความเป็นตัวคุณที่สุด
อย่าสรรเสริญเยินยอใครจนเกินงาม อย่าติฉินนินทานายจ้างที่ผ่านมา ใช้ภาษาที่เป็นทางการ สละสลวย สุภาพ
ใช้รูปประโยคที่ชัดเจน ประเภทคำว่า คาดว่า อาจจะ ถ้า ฯลฯ ก็หลีกเลี่ยง
โดยการเขียนต้องเชิญชวนให้ไปอ่านเรซูเมเพิ่มเติม แต่ไม่ใช่เป็นการนำเรซูเมมาเขียนอีกครั้ง

คำพูดต้องไม่ขัดแย้งในตัวเอง โดยสรุปก็คือ เขียนให้ผู้ที่อ่านเขาตอบคำถามได้ว่า ทำไมเขาถึงต้องจ้างคุณ
อ้อ อย่าลืมบอกว่า สามารถติดต่อคุณได้อย่างไร สะดวกรวดเร็วที่สุด
รวมถึง การสะกดคำ การใช้กระดาษที่สุภาพดูดี การส่งที่เรียบร้อย และรูปแบบของข้อมูลในกรณีที่ต้องเป็นแฟ้ม
สำหรับเปิดอ่านในคอมพิวเตอร์นั้น ต้องเลือกรูปแบบและประเภทที่เปิดได้ง่าย


5. ฝึกฝนการตอบคำถาม :
การสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์ที่สุด ก็คือ เราต้องหน้าตาสดใส ดูน่าคบหา (คบแบบร่วมงาน ไม่ใช่แฟน)
ตอบคำถามด้วยความมั่นใจ แต่พองาม ตอบคำถามได้ตรงประเด็น(พล่ามเกินไปไม่ใช่ผลดี) และสุภาพ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สามารถฝึกฝนกันได้ จากการปรับปรุงบุคลิกภาพ ไม่ว่าคุณจะหน้าตาดีหรือไม่ดีแค่ไหน
ถ้าบุคลิกดีก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว (interview.monster.com/, )

ส่วนการฝึกฝนก็สามารถใช้จากข้อ 1 หรือเพื่อนๆได้เช่นกัน
และยิ่งสมัยนี้ เป็นยุคของภาษาต่างด้าวครองเมือง(อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมัน จีน สเปน ฯลฯ)
ดังนั้น การเตรียมฝึกพูดภาษาที่ 2 และ 3 ให้คล่อง ก็จะยิ่งดี และได้เปรียบผู้อื่นอีกแล้ว


6. ศึกษาผลตอบแทน :
ข้อนี้ อาจดูงกๆบ้าง แต่ก็เป็นสิทธิ์ที่เรามี การเรียกเงินเดือน ถ้าไม่พอใจกันทั้งสองฝ่าย ก็ทำงานด้วยการได้ไม่นาน
แน่นอนว่านายจ้างย่อมต้องการจ้างถูก และเราย่อมต้องการเงินเดือนสูงๆ
แต่มันต้องมีจุดที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่ายได้ โดยเราต้องดูว่า มีประสบการณ์แค่ไหน
บริษัทนั้นมีมาตรฐานการให้เงินเดือนเช่นไร ซึ่งถ้ามีคนรู้จักในสายงานที่จะสมัคร น่าจะพอเลียบๆเคียงๆถามได้ว่า
ควรจะเรียกเท่าไหร่ และเรียกให้เกินเล็กน้อย เผื่อต่อรอง
(www.jobsmart.org/tools/salary/sal-comp.htm, http://www.mcpmag.com/salarysurveys/default.asp)

และส่วนที่สำคัญอีกอย่างก็คือ สวัสดิการ ทั้งโบนัส วันลาพักผ่อน ค่ารักษาพยาบาล ค่าเบี้ยเลี้ยง ฯลฯ
ถ้าบริษัทไหนที่มีมากอยู่แล้ว ก็คงไม่มีปัญหา เพราะพนักงานย่อมชอบอยู่แล้ว
และถ้าบริษัทมีน้อย จนถึงไม่มีเลย ก็ต้องชั่งใจดูว่า ยอมได้มั้ย คุ้มมั้ย
เพราะถ้าคุณเข้าไปได้แล้ว จะมาเรียกร้องตรงนี้ย่อมดูไม่ดีแน่ๆ
ถ้าไม่แน่ใจ ก็ถามตอบสัมภาษณ์นั่นแหล่ะ เพราะเขาจะเปิดโอกาสให้เราซักถามอยู่แล้ว


7. ฝึกฝนอยู่เสมอ :
ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยเรียน หรือวัยทำงาน คุณสมบัติข้อนี้ ควรจะมีอยู่เสมอ
เพราะหมายถึงการเพิ่มทักษะความชำนาญ ยิ่งชำนาญมาก ก็ย่อมมีโอกาสได้งานมาก

การฝึกฝนก็ทำได้หลายรูปแบบ พื้นฐานที่สุดคือ อ่านหนังสือ แล้วลงมือทำ
ถ้าจะให้ดีหน่อย ฝึกแบบที่จะทำให้ทำงานได้ดีขึ้นก็ดี จากนั้น ควรหาโอกาสทดสอบฝีมือบ้าง
ด้วยการไปสอบวัดผลต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเปิดมากมาย(www.itit.co.th, http://www.mcpmag.com)
โดยเฉพาะทักษะด้านคอมพิวเตอร์ หรืออาจใช้วิธี ทดสอบกับเวบไซต์ต่างๆก็ได้(www.brainbench.com)
และเมื่อเราทดสอบผ่านแล้ว ได้ใบประกาศมา(แทบทั้งหมดไม่ฟรี)
ก็สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจให้นายจ้างได้ เป็นการเพิ่มโอกาสที่ดีเช่นกัน


8. ค้นหาสิ่งใหม่ๆ :
การเป็นผู้ไม่อยู่นิ่ง (หมายถึงมีความคิดสร้างสรรค์ และมีวิสัยทัศน์ ไม่ใช่การวิ่งไปวิ่งมา)
เป็นสิ่งที่นายจ้างชอบ และเป็นผลดีกับเรา

การค้นหาสิ่งใหม่ๆที่ไม่มีอยู่อื่นทำมาก่อน หรือมีแต่น้อย และจับมันก่อนใคร ย่อมทำให้คุณได้เปรียบผู้อื่น

ถ้าคุณเพิ่งสำเร็จการศึกษา ย่อมเป็นโอกาสที่ดี สำหรับการนำเสนอเพื่อให้ได้งาน
หรืออาจจะเป็นนายตนเองก็ย่อมได้


9. วางแผนชีวิต :
บางคนอยู่ไปเรื่อยๆ ปล่อยไปตามลมจะพัดพาเราไป บางคน กะเกณฑ์ว่าปีนี้จะทำโน่น อายุเท่านี้จะทำนั่น
ดูไม่สมดุลย์เลยทั้งสองรูปแบบ การเดินทางสายกลาง จึงน่าจะดีที่สุด

การวิเคราะห์ตนเองอยู่เสมอ และปรับสถานการณ์ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะทำให้ชีวิตมีสุข
เป้าหมายคนเราไม่เหมือนกัน ความสุขของแต่ละคน คือความพอของคนนั้น
ใครมีสุขแค่ไหนก็จะพอแค่นั้น ดูความเหมาะสมกันเอาเอง


สำหรับข้อ 9 นั้น เป็นบทสรุปของบันไดทั้ง 9 ขั้น เพราะท้ายที่สุด เมื่อหันกลับมามองตัวเอง และผู้อื่น
เราต้องตอบคำถามให้ได้ว่า หนทางที่ก้าวไปนั้น เพื่ออะไร
เมื่อไปถึงจุดหมายแล้วจะทำอะไรต่อ และชีวิตนี้ต้องการอะไร

ไปๆมาๆ บทสรุปคล้ายกับจะเข้าสู่ทางธรรม ขอขมวดไว้เพียงเท่านี้
เดี๋ยวคุณผู้อ่านตะหนกว่าผมเป็นอะไร จะบวชแล้วหรือ ก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ หาทางลงไม่เจอเท่านั้นเอง

สวัสดี


ที่มา :http://www.2poto.com/html2/article.php?sid=257
ภาพจาก :http://singlemindedwomen.com

คิดใหญ่...ต้องคิดเล็ก


คิดใหญ่...ต้องคิดเล็ก
คมคิด: แผนงานของดวงความคิดเป็นของนักคิด แต่คำตอบของลิ้นมาจากนักปฏิบัติ

เพื่อปรับปรุงพัฒนางานและองค์กร
ท่านจะเลือกปรึกษาใครระหว่าง นักวิชาการเจ้าทฤษฎี กับ ผู้ปฏิบัติงานจริง

“ช่วงนี้ เป็นอย่างไรไม่รู้ แลดูพนักงานรู้สึกเฉยๆ อยู่ไปเรื่อยๆ ทำงานพอให้ผ่านไปวันๆ”
วรรณฤดีกล่าวขณะมือแตะคางเหมือนกำลังคิดอะไรอยู่

“ความสดใหม่เริ่มต้นที่ความคิด” ยุทธศักดิ์พูดให้ฉุกคิด
“ดูตัวอย่าง พอเวลาผ่านไป บริบทเปลี่ยนไป
รัฐธรรมนูญที่ว่าดี ยังต้องปรับปรุงให้สดใหม่ และผ่านประชามติเพื่อรับรองว่าเหมาะสมใช้การได้ จริง”

“ใช่ซิ น่าจะลองให้พนักงานเสนอความคิดใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงตนเองและบริษัทดูบ้างเหมือนในเล่มนี้”
วรรณฤดีคิดออก พร้อมยื่นหนังสือ Idea Are Free ของ Alan G.Robinson & Dean M. Schroeder ให้ดู

เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ในองค์กรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เราอาจกระตุ้นความรู้ที่ฝังลึก (Tacit knowledge) ออกมาใช้
ด้วยการให้ความสำคัญกับความคิดใหม่ๆ จากพนักงานเพื่อพัฒนางาน องค์กรและสังคมได้

ผู้บริหารในองค์กรที่ประสบความสำเร็จ จะเห็นคุณค่าบุคลากรทุกระดับ
เปลี่ยนบทบาทตนเองจากผู้สั่งการ (Commander) และแก้ไขปัญหาทุกอย่างด้วยตนเอง
มาเป็นผู้ส่งเสริม (Facilitator) และผลักดัน (Mobilizer) บุคลากรให้เสนอความคิดดีๆ ให้มากที่สุด
เพื่อช่วยกันพลิกโฉมองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมและได้ผล ด้วยตระหนักว่าความคิดแม้จะเล็ก
แต่หากกลั่นกรองมาจากประสบการณ์ที่รู้จริง ย่อมสร้างความได้เปรียบในการพัฒนาและแข่งขันอย่างมาก


ท่านส่งเสริมให้พนักงานเสนอความคิดดีๆ เพื่อปรับปรุงองค์กรอย่างไรบ้าง
มาสำรวจผ่านดัชนีการบริหารด้วยกัน

ดัชนีการบริหาร
ในช่วงที่ผ่านมา ท่านส่งเสริมให้เกิดความคิดดีๆ ในองค์กรเป็นอย่างไรบ้าง

กรุณากาเครื่องหมายหน้าข้อที่เห็นว่าตรงกับตัวท่าน

_____ ไม่ว่าจะเป็นความคิดเล็กหรือใหญ่ หากจะเกิดประโยชน์ต่องานและองค์กร ฉันรับฟังเสมอ
_____ ฉันมีวิธีกระตุ้น ส่งเสริม รวบรวมและพัฒนาความคิดใหม่ๆ จากทีมงานอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
_____ ฉันได้รับความคิดใหม่ๆ จากพนักงานทุกสัปดาห์

ข้อเสนอแนะ : หากท่านไม่ได้ ?ในข้อใดข้อหนึ่ง อาจใช้ “ทักษะคิดมุ่งพัฒนา” ช่วยได้


ทักษะคิดมุ่งพัฒนา (Development-focused thinking)
ทักษะนี้เป็นการส่งเสริม และเก็บเกี่ยวความคิดของบุคลากรในองค์กรมาใช้ ประโยชน์ให้มากที่สุด
ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วม รู้สึกภาคภูมิใจ
อีกทั้งสร้างความผูกพันเหนียวแน่นและเอกภาพในองค์กรมากยิ่งขึ้น
ทักษะนี้ประกอบด้วย 3 ขั้น ดังโมเดลและคำอธิบายถัดไปนี้

1.คาดหวังความคิดใหม่ๆ ทุกวัน
เป็นการตั้งเป้าหมายกับตนเอง และบุคลากรทุกคนร่วมกันว่าจะหาวิธีการหรือความ คิดใหม่ๆ
ที่จะปรับปรุงตนเอง ทีมงาน ระบบวิธีทำงาน และสภาพแวดล้อมในที่ทำงานอย่างไรให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
ซึ่งจะทำให้พนักงานทุกคนทำงานอย่างมีสติ และคิดเชิงบวกเพื่อพัฒนางานอยู่เสมอ
อาจตั้งเป้าหมายว่า “ฉันจะหาวิธีใหม่ๆ ในการทำงานให้ดีขึ้นอย่างน้อยวันละ 1 อย่าง”

โดยไม่ต้องกังวลว่าความคิดจะไม่ดี ไม่เข้าท่า
เพราะความคิดที่ดีมักเริ่มต้นจากดูไม่เข้าท่ามาก่อน แล้วนำมาพัฒนาต่อยอดภายหลัง

2.ถามเชิงบวก
เป็นการตั้งคำถามในระหว่างปฏิบัติงานอยู่เสมอๆ
เพื่อการปรับปรุงผลการปฏิบัติงาน ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
อันส่งผลดีต่อองค์กรและสังคมในที่สุด ยกตัวอย่างคำถาม 3 หมวด ดังนี้

คำถามสำหรับบุคลากรทุกระดับ
ถ้าเปลี่ยนได้ อยากให้การทำงานเป็นอย่างไรในวันนี้
หากย้อนเวลากลับไปได้ จะทำอะไรเพิ่มเพื่องานจะออกมาดียิ่งขึ้น
วันนี้มีอะไรที่รู้สึกไม่ได้ดังใจ อยากให้เป็นอย่างไร
ฉันจะสนุกและมีความสุขในการทำงานมากขึ้น หาก...
ฉันอยากให้งานที่ทำ สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมมากยิ่งขึ้น โดยการ...

คำถามสำหรับผู้บริหาร
ทำอย่างไรให้ทีมงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทำอย่างไรให้ผลผลิตที่ออกมา ลดค่าใช้จ่ายลงได้อีก ปริมาณสูงขึ้น คุณภาพได้มาตรฐาน

คำถามสำหรับผู้ปฏิบัติงาน
วันนี้เกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้น ทำให้ได้เรียนรู้อะไร จะป้องกันอย่างไร
ทำอย่างไรให้งานเสร็จออกมา รวดเร็วขึ้น ประหยัดขึ้น สะอาดขึ้น เป็นระเบียบขึ้น
ฉันและเพื่อนจะทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หาก...

3.พัฒนาและทดลองใช้
เป็นการรวบรวมความคิดใหม่ๆ มาประเมิน ปรับปรุงและนำไปทดลองใช้จริง ซึ่งควรทำอย่างรวดเร็ว
โดยทุกความคิดควรได้รับการยกย่องให้เกียรติหรือรางวัลตามเหมาะสม
ไม่ว่าจะสามารถนำไปใช้ได้จริงมากน้อยเพียงใดก็ตาม
เพื่อสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจ อันนำมาซึ่งการผูกพันเหนียวแน่นต่อกัน (Cohesiveness)
และเอกภาพ (Unity) ในองค์กร

“ล่าสุด มีใครเสนอความคิดใหม่ๆ ให้ท่านบ้าง ท่านขอบคุณเขาหรือยัง”


โดย น.พ.ยุทธนา ภาระนันท์
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/25/WW73_7301_news.php?newsid=90812
ภาพจาก http://www.123rf.com/photo_2791149.html

อารมณ์บนใบหน้า สิ่งสำคัญที่ควรหัดควบคุม


อารมณ์บนใบหน้า สิ่งสำคัญที่ควรหัดควบคุม
การรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม
นอกจากอารมณ์ทางด้านจิตใจแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ การควบคุมอารมณ์บนใบหน้าของคุณ นั่นเอง

เพราะใบหน้านี่แหละค่ะ ที่จะเป็นสิ่งทำให้คนอื่นรู้ว่าขณะนั้นคุณกำลังรู้สึกอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีเลยนะคะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่เป็นนักบริหารทุกคน
เพราะสิ่งนี้ อาจทำให้ความน่าเชื่อถือที่มีอยู่ในตัวคุณลดน้อยลงไปได้

ผู้บริหารบางคน มักจะมองข้ามตรงจุดนี้นะคะ
อาจเป็นเพราะคิดว่า แค่ควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้เนี่ย ก็เป็นเรื่องยากพออยู่แล้ว
เพราะเวลาโกรธทีไร แค่ควบคุมคำพูดแต่ละคำ ไม่ให้รุนแรงเกินไปก็ทำได้ลำบาก
แล้วยังจะต้องมานั่งกังวลกับสีหน้าที่แสดงออกอีก

แต่รู้ไหมคะ ว่าเวลาที่คุณโกรธหรือไม่พอใจขึ้นมา สิ่งที่ออกหรือแสดงให้คนอื่นเห็นเป็นอย่างแรก ก็คือ
สีหน้าคุณ นี่แหละค่ะ และสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดมากกว่าอย่างอื่นด้วย

มีผู้บริหารหลาย ๆ ท่านนะคะ ที่เวลาโกรธ หรือไม่พอ หรือเกิดความรู้สึกอะไรสักอย่าง
มักแสดงความรู้สึกเหล่านั้นออกทางสีหน้าโดยที่ไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่คุณคิดว่าคุณควบคุมอารมณ์เหล่านั้นไว้แล้วก็ตาม

การแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ออกทางสีหน้ามากเกินไป โดยที่ไม่เก็บอาการต่าง ๆ เหล่านั้นไว้เลย
อาจเป็นเพราะว่าคุณคิดว่าคุณเป็นหัวหน้าจะทำอย่างไรก็ได้ อย่างนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีเลยนะคะ
เพราะอาจทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของคุณ เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับคุณได้

ลองคิดดูง่าย ๆ นะคะ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณโกรธ หรือไม่พอใจ แล้วคุณแสดงความรู้สึกเหล่านั้นออกทางสีหน้า
ก็จะทำให้คนที่กำลังอยู่กับคุณตอนนั้นเกิดความรู้สึกที่ว่า คุณเป็นคนไม่รู้จักเก็บความรู้สึกเอาเสียเลย
อย่างถ้าเกิดตอนนั้นคุณไปพบลูกค้า แล้วเมื่อคุณเสนองาน เขากลับไม่ชอบตามที่คุณเสนอ
คุณก็ชักสีหน้า แสดงความไม่พอใจ แล้วคุณว่าลูกค้าคนนั้นเขาจะคิดอย่างไร

อย่างแรก ต้องไม่พอใจคุณกลับแน่ ๆ ที่ตามมา ก็คือ อารมณ์เสียของเขา เพราะเขาคงต้องเกิดความรู้สึกว่า
เขาเป็นลูกค้า คุณยังมาทำหน้าไม่พอใจใส่เขา ดีไม่ดีเขาอาจไม่ทำงานกับคุณอีกเลยก็ได้

หรือถ้าเป็นในบริษัท คุณเกิดความรู้สึกที่ดี ๆ กับลูกน้องของคุณคนหนึ่งเป็นพิเศษ แบบพิเศษจริง ๆ นะคะ
แล้วคุณก็แสดงออกทางสีหน้าอย่างชัดเจนว่าคุณชอบเขามาก ๆ
เชื่อไหมคะว่าลูกน้องของคุณคนนั้นต้องกลัวคุณแน่
ส่วนคนอื่น ๆ ก็ไม่ต้องพูดถึง รับรองได้เลยว่าเขาต้องเอาคุณไปพูดในทางที่เสียหายแน่นอน
ถ้าคุณยังนึกไม่ออกว่าการไม่ควบคุมอารมณ์ทางสีหน้าเป็นอย่างไร
ลองวิธีง่าย ๆ อย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา เชื่อว่าคุณต้องคิดออกแน่ ๆ

การควบคุมอารมณ์ทางสีหน้า นอกจากจะช่วยลดความไม่พอใจที่คนอื่น ๆ มีต่อคุณแล้ว
ก็ยังทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นว่า คุณเป็นผู้บริหารที่มีความสุขุมด้วยนะคะ
นอกจากนั้นก็ยังสร้างความรู้สึกที่ดี ที่ผู้ใต้บังคับบัญชามีต่อคุณอีกด้วย

อย่างในกรณีข้างต้น คุณไปติดต่อลูกค้าแล้วเขาไม่พอใจงานของคุณ
ถ้าคุณหน้าบึ้งแล้วอธิบายก็จะกลายเป็นว่าคุณไปเถียงเขา แต่ถ้าคุณยิ้มแล้วค่อย ๆ อธิบายให้เขาฟัง
เชื่อว่าเขาต้องยอมรับฟังแน่ ๆ คะ
แล้วผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ไปกับคุณก็ต้องเกิดความรู้สึกที่ดีว่าคุณเป็นคนที่ ทำงานเก่ง
ขนาดไม่พอใจยังรู้จักเก็บอารมณ์ค่อย ๆ อธิบายจนลูกค้ายอมรับฟังความคิดเห็น ได้ทั้งใจได้ทั้งงาน
เห็นไหมคะว่าการควบคุมอารมณ์ทางสีหน้า เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นขนาดไหน

อารมณ์ทางสีหน้า เป็นสิ่งที่แสดงออกให้คนอื่นเห็น ชัดเจนมากกว่าอารมณ์ที่เกิดจากความรู้สึกนะคะ
เวลาที่คุณเกิดความรู้สึก และคิดว่าควบคุมความรู้สึกแล้ว
ลองคิดต่ออีกสักนิดนะคะว่า ตอนนั้นคุณได้ควบคุมสีหน้าคุณไว้แล้วหรือยัง
ถ้ายัง ก็รีบเก็บอารมณ์ทางสีหน้าของคุณไว้เถอะ เพราะสิ่งนี้นอกจากจะเพิ่มความรู้สึกที่ดีที่คนอื่นมีต่อคุณแล้ว
ยังแสดงให้เห็นถึงความสุขุมที่มีอยู่ในตัวคุณ ช่วยเพิ่มบุคลิกของนักบริหารที่มีอยู่ในตัวคุณด้วยนะคะ


ที่มา http://www.jobroads.net/Article/ViewArticle.asp?ID=332

34 วิธีพูดว่า "ไม่" ให้ประทับใจและได้ผล


34 วิธีพูดว่า "ไม่" ให้ประทับใจและได้ผล
34 วิธีพูดว่า ไม่ ให้ประทับใจและได้ผล

การทำให้ผู้อื่นคล้อยตามวิธีการของคุณ

1. อย่าพูดว่า ได้ ถ้าคุณตั้งใจจะพูดว่าไม่

2. คุณเป็นอย่างนี้อยู่บ่อยๆ หรือเปล่า ตั้งใจจะพูดว่า ไม่ แต่เป็นอะไรก็ไม่รู้ ถึงพูดได้ว่า ได้ ออกมาแทน?

เปลี่ยนตัวเองเสียใหม่แล้วทำให้เป็นนิสัยด้วยการสูดหายใจเข้าลึกๆ
และกลั้นหายใจไว้อย่างน้อย 3 วินาทีก่อนจะตอบ
การกระทำเช่นนี้จะช่วยขัดจังหวะการตอบรับด้วยความปากไวของคุณ
และให้เวลาคุณอย่างน้อย 2-3 วินาที ที่จะคิดหาทางพูดคำว่า ไม่ ออกมา

3. "ไม่" เป็นคำที่สั้นที่สุดในแทบทุกภาษา การตอบ ไม่ ที่ได้ผลที่สุดมีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นแรก ทวนคำพูดหรือคำขอ ของอีกฝ่ายอย่างย่อๆ เพื่อแสดงว่าคุณรับทราบและใส่ใจฟัง
ขั้นที่ 2 ตอบ ไม่ อย่างรวดเร็วและสุภาพ (เช่น ขอโทษ ฉันทำไม่ได้)
ขั้นที่ 3 แสดงความขอบคุณสำหรับการถามหรือคำขอ (ขอบคุณนะที่นึกถึงฉัน)

4. ปัญหาอย่างหนึ่งของคำว่า ไม่ คือ ทำให้ผู้ได้รับการตอบปฏิเสธเกิดความหงุดหงิด หรือไม่สบายใจ
เพราะการปฏิเสธทำให้เกิดความรู้สึกเสียศูนย์

เราสามารถทำให้ผู้ได้รับการตอบปฏิเสธรู้สึกดีขึ้นได้ ด้วยการเสนอทางเลือก โดยอาจจะตอบว่า
"ถึงแม้เราจะส่งของทั้งหมดตามวิธีที่คุณต้องการไม่ได้
แต่เราสามารถส่งบางส่วนให้คุณโดยเครื่องบิน และส่วนที่เหลือโดยรถบรรทุก"

5. ตอบ ไม่ กับคำขอ ไม่ใช่กับตัวผู้ขอ
โดยพยายามแยกประเด็นของเรื่องออกจากตัวบุคคล ยกตัวอย่างเช่น
ควรจะตอบว่า "ฉันทำงานนี้ไม่ได้" ซึ่งให้ความรู้สึกที่ดีกว่าการพูดว่า "ฉันทำงานนี้ให้คุณไม่ได้"

6. ก่อนจะพูด ไม่ ให้นึกถึงสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งให้ความสำคัญหรือคำนึงถึงเสียก่อน
โน้มน้าวให้อีกฝ่ายเห็นว่า การตอบ ไม่ ของคุณนั้น ไม่ใช่แค่การตอบแบบไม่คิดถึงเขาใจเรา
แต่ยังเป็นคำตอบที่ดีสำหรับเขาด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น คุณถูกขอร้องให้เลื่อนกำหนดส่งงานให้เร็วกว่าเดิมด้วย จำนวนวันที่ไม่ค่อยจะสมเหตุสมผล
แทนที่จะตีอกชกตัวแล้วโวยวายว่าทำไม่ได้ คุณควรจะเน้นให้อีกฝ่ายเห็นว่า คำขอนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
โดยตอบว่า "ฉันคงจะลดเวลาทำงานเพื่อให้ส่งงานเร็วขึ้นตามที่คุณขอไม่ได้หรอก
เพราะผลงานที่ออกมาจะไม่ได้มาตรฐานอย่างที่คุณคาดหวังเอาไว้"

7. หนึ่งในวิธีที่ทำให้ "อีกฝ่ายหนึ่ง" คล้อยตามวิธีการของคุณอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด คือ
พยายามมองเหตุการณ์ในมุมมองของเขา และทำความเข้าใจในฐานะที่เป็นตัวเขา แทนที่จะตอบว่า ไม่
คุณควรใช้วิธีการต่อรองหรือประนีประนอม หรือให้ข้อแลกเปลี่ยนแบบหมูไปไก่มา เช่น
"ถ้าคุณสัญญาว่าจะสนับสนุนโครงการนี้ของผม ผมจะทำทุกอย่างที่ทำได้
เพื่อให้งบประมาณของคุณได้รับการอนุมัติ โดยไม่ถูกหั่นแม้แต่บาทเดียว"

8. ถ้าการยื่นหมูยื่นแมวข้างต้นไม่ใช่ข้อแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม
ให้เปลี่ยนมาเป็นการเสนอทางเลือกที่เป็นรูปธรรม ซึ่งควรจะเป็นทางเลือกที่รับได้ทั้งสองฝ่าย
และเป็นการประนีประนอมโดยไม่ทำให้คุณเสียเปรียบ
การแสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าเรายืดหยุ่นได้มักจะให้ผลดี
ในขณะที่การปฏิเสธแบบทื่อๆ มักจะทำให้อีกฝ่ายเกิดการรู้สึกขุ่นเคือง

9. แทนที่จะพูดว่า ไม่ ทำไมไม่โยนภาระที่เกิดจากคำขอนั้นกลับไปยังผู้ขอ?
"โจ คุณอยากให้ผมจัดการกับเรื่องนี้อย่างไรล่ะ?"
หรือ "แล้วคุณคิดว่าวิธีการแก้ไขปัญหาที่สมเหตุสมผลสำหรับคุณคืออะไรล่ะ ปีเตอร์?"

10. ถ้าคุณตัดสินใจที่จะใช้การต่อรอง แทนที่จะดันทุรังพูดว่า ไม่ อย่างห้วนๆ
ขอให้ต่อรองด้วยจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน มีความจริงใจ และองโลกในแง่ดี
ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยไม่ให้คุณหลงประเด็นและทำผิดพลาดเท่านั้น
แต่ยังแสดงให้ผุ้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการต่อรองเห็นว่า คุณคุมสถานการณ์ได้

11. วางแผนการต่อรองอย่างถี่ถ้วนไม่ว่าจะมาในลักษณะไหน
คุณต้องรู้ว่าคุณต้องการอะไร และอีกฝ่ายจะปฏิเสธคุณอย่างไรบ้าง
คุณควรจะวางแผนว่าจะโต้ตอบการปฏิเสธนั้นๆ เอาไว้ล่วงหน้า
แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อจะตอบปฏิเสธเท่านั้น
นอกจากนี้การเตรียมพร้อมยังช่วยให้คุณสามารถประเมินสถานการณ์ ที่อาจจะเกิด ขึ้นได้อย่างคร่าวๆ
และทำให้คุณสามารถชี้นกเป็นไม้ได้อย่างที่ต้องการ

12. เมื่อเลิกที่จะปฏิเสธก็ไม่จำเป็นจะต้องมานั่งละอายใจหรือรู้สึกผิด
เพราะการปฏิเสธคือสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
หลังพูดว่า "ไม่ ฉันไม่ได้ทำ" ไปแล้ว ก็ขอให้รักษากิริยาให้นิ่งและสงบ

13. ถ้าเป็นไปได้ เมื่อจะพูด ไม่
อย่าพูดแค่คำว่าไม่ แล้วจบไว้แค่นั้น ควรแสดงความเห็นอกเห็นใจฝ่ายที่ได้รับการปฏิเสธ ด้วยการให้กำลังใจ
เพื่อไม่ให้เขารู้สึกในทางลบมากนัก โดยอาจจะปลอบไปว่า
"ฉันรู้ว่าคุณรู้สึกยังไงเมื่อถูกปฏิเสธ เพราะฉันก็เคยรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน
แต่บางทีเราต้องยอมรับนะว่า คำขอของเราอาจไม่สมเหตุสมผล..."

14. ตอบ ไม่ แบบธรรมดาๆ ไม่ใช่แสดงอาการเช่น เขี้ยวเคี้ยวฟันแล้วพูดว่า
"ให้ตายเถอะ จ้างก็ไม่มีทางทำให้หรอก" การปฏิเสธแบบเรียบๆ จะดีกว่าการออกท่าทาง
เพราะแค่คำว่า ไม่ อย่างเดียวก็ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกไม่ดีมากพออยู่แล้ว
ไม่จำเป็นจะต้องกระตุ้นให้เกิดความขุ่นเคืองใจ ด้วยการใช้คำพุดรุนแรงหรือ แสดงท่าทาง



ไม่ กับการได้รับมอบหมายงานเพิ่ม

15. การปฏิเสธเมื่อได้รับมอบหมายงานเพิ่ม มีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี
วิธีแรก คือ โจมตีงานนั้นโดยตรง
โดยแสดงให้เห็นว่างานนั้นมีข้อบกพร่อง เป็นไปไม่ได้ หรืออาจไม่จำเป็นจะต้องทำ

วิธีการที่ 2 คือ อาจจะแย้งว่า ถึงแม้โครงการจะใช้ได้และไม่มีปัญหาอะไร
แต่คุณไม่ใช่คนที่ดีที่สุดที่จะทำงานชิ้นนี้ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าคุณสมบัติไม่ตรงกับงานหรือประสบการณ์ไม่มากพอ
หรือคุณเหมาะกับงานอื่นมากกว่า

วิธีสุดท้าย คือ คุณอาจจะพูดแค่ว่า คุณไม่ขอรับงานชิ้นนี้

16. แต่ถึงจะชักแม่น้ำทั้ง 5 มาพูดแล้วก็ยังไม่อาจปฏิเสธได้ วิธีที่ดีที่สุดที่ควรจะนำออกมาใช้คือ
พยายามโน้มน้าวให้เจ้านายของคุณเห็นว่า คุณน่าจะทำประโยชน์ให้กับบริษัทได้มากกว่าในงานชิ้นอื่น

17. เมื่อคุณเสนอทางเลือกให้เจ้านาย โดยบอกว่าคนอื่นเหมาะสมกับงานนั้นมากกว่าคุณ
ขอให้มุ่งประเด็นไปที่ทางเลือกที่คุณเสนอให้ โดยอย่าเผลอเน้นว่าตัวคุณไม่เหมาะสม

18. เมื่อได้รับงานเพิ่ม แทนที่จะตอบปฏิเสธงานไปในทันที พยายามชี้ให้เห็นถึง "ปัญหาที่มีอยู่"
"ข้อบกพร่อง" หรือ "จุดที่ยังติดขัด" หรือ "ประเด็นที่ยังเป็นคำถาม" หรือ "สิ่งที่จำเป็นจะต้องแก้ไข"
ให้เสร็จก่อนที่งานจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า คุณทำการบ้านและใส่ใจในงาน
นอกจากนี้ยังเป็นการให้โอกาสเจ้านาย ได้รับทราบถึงความยากลำบากของงานนั้น ด้วยตัวของเขาเอง
ดีกว่าการบ่นว่าเจ้านาย ว่าไม่ยุติธรรมที่เอางานยากๆ มาให้คุณทำ

19. เมื่อปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายเพิ่ม
สิ่งที่ไม่ควรทำเลยก็คือ โยนงานคืนให้เจ้านายไปเฉยๆ คุณควรปฏิเสธพร้อมกับแนะนำทางเลือกให้ด้วย

20. ถ้าคุณตอบ ไม่ กับงานโดยพูดแค่ว่าคุณไม่เหมาะสม
คุณกำลังเสี่ยงกับการทำให้คนอื่นเข้าใจผิด และคิดว่าคุณพยายามจะเดินหนีจาก หน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ
การป้องกันไม่ให้คนอื่นคิดเช่นนั้นก็คือ การเสนอคนอื่นให้มาทำงานแทนโดยให้เหตุผลสนับสนุน
และทำให้คล้อยตามว่าเพราะเหตุใดคนคนนั้น จึงเหมาะสมกับงานนั้นมากกว่าคุณ
การกระทำเช่นนี้จะช่วยทำให้คุณไม่ถูกมองว่าขาดความรับผิดชอบ

21. คุณไม่จำเป็นจะต้องตอบว่า ไม่ ในทันทีทันใด คุณไม่ควรแสดงอาการตอบรับหรือปฏิเสธ
แต่ ควรแจ้งกับเจ้านายว่า คุณขอเวลาดูรายละเอียดและทบทวนงานนั้นเสียก่อน
ทั้งนี้เพื่อช่วยให้คุณมีเวลาคิดหาทางหนีทีไล่ และคิดหาทางเลือกที่เหมาะสม และมีเหตุมีผล
เพื่อทำให้เจ้านายของคุณคล้อยตาม

22. เมื่อปฏิเสธงาน ควรเริ่มต้นด้วยการอ้างถึงงานที่ประสบความสำเร็จในอดีตของคุณ
แล้วตามด้วยการเปรียบเทียบงานที่ได้รับมอบหมายกับงานเด็ดในอดีต
โดยชี้ให้เห็นว่าทำไมคุณถึงไม่ใช่คนที่เหมาะที่สุดสำหรับงานนี้ อย่างเช่น
"ก็อย่างที่คุณทราบนั่นแหละครับว่าโครงการนั้นที่ผมดูแลอยู่ ประสบความสำเร็จขนาดไหน
ที่งานนั้นออกมาดีก็เพราะว่าผมถนัดเรื่องขายส่ง และรู้เรื่องขายส่งอย่างทะลุปรุโปร่ง
แต่โครงการที่คุณกำลังจะขอให้ผมทำในตอนนี้เป็นเรื่องการขายปลีก ซึ่งจำเป็นต้องใช้มืออาชีพทางด้านนี้
และต้องรู้จักงานขายปลีกอย่างละเอียดละออ นอกจากนี้ต้องมีฝีมือในระดับที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับผม
ผมขอพูดตรงๆ เลยนะครับว่า โจเป็นมืออาชีพในเรื่องขายปลีก ไม่ใช่ผม"

23. ซ่อนคำว่า ไม่ ของคุณเอาไว้ภายใต้คำชมเชย

แอน : ฉันเสนอชื่อคุณเข้าร่วมทำโครงการแอมแทร็กซ์ เพราะรู้ว่าคุณคงไม่ยอมพลาดงานนี้
และฉันก็มั่นใจว่าคุณจะต้องหาเวลาว่างได้แน่ๆ

คุณ : ขอบคุณจริงๆ นะแอนที่นึกถึงผม แต่ปีนี้ผมจับงานของลินด์ควิสอยู่และอยากทำให้เสร็จทันเวลา
ผมเลยต้องทุ่มเทเต็มที่จนไม่มีเวลาจะไปทำอย่างอื่น คุณก็รู้ว่าผมชอบทำงานกับคุณมากขนาดไหน
เอาเป็นว่าถ้าผมว่างเมื่อไร ผมจะไม่ยอมพลาดทำงานร่วมกับคุณอย่างแน่นอน

24. งานที่คุณต้องทำมีกองสูงจนท่วมหัว ในขณะที่จอห์นแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย
ใครๆ ก็รู้ว่าคุณทำงานดี ทำงานเก่ง ซึ่งตรงข้ามกับจอห์น เพราะอย่างนี้เจ้านายถึงเอางานมาให้คุณทำเกือบทั้งหมด
การพูด ไม่ ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้การกระจายงานเป็นไปอย่างยุติธรรมเท่านั้น
ยังทำให้เจ้านายได้คิด กลับมองคุณดีขึ้นแถมยังเล็งเห็นถึงการเป็นคนมีเหตุมีผล และรู้จักเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง
คุณควรพูดกับเจ้านายของคุณแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ด้วยการอ้างถึงประโยชน์ของหน่วยงานเป็นสำคัญ
ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของคุณ โดยอาจจะกล่าวว่า
"คุณเพอร์กินส์ครับ แผนกของเรากำลังมีปัญหาเรื่องการกระจายงาน ผมเกรงว่าถ้างานมาสุมกันอยู่ที่ผมมากๆ
ผมคงไม่มีเวลาพอที่จะทำให้งานทุกๆ ชิ้นให้ผลงานออกมาดีได้เท่าเทียมกันและคงจะดูแลได้ไม่เท่าที่ควร
และทำให้ผลงานของแผนกเราด้อยลงกว่าเดิมนะครับ"
การเริ่มต้นเช่นนี้คือวิธีการเปิดประเด็น เพื่อให้มีการปรับปรุงหรือแก้ไข อย่างตรงไปตรงมา


ไม่ กับเพื่อนร่วมงานและผู้ร่วมงาน

25. คุณถูกชวนให้ไปงานเลี้ยงของแผนก แต่งานคราวก่อนไม่สนุกและกร่อยมาก
คุณไม่อยากจะเจอกับประสบการณ์แบบคราวที่แล้วอีก คุณจะปฏิเสธอย่างไรเพื่อไม่ให้เพื่อนร่วมงานเสียน้ำใจ?
ให้ตอบปฏิเสธแบบไม่ต้องอธิบายเหตุผล โดยพูดเรียบๆ ว่า "ขอโทษน่ะ ผมคงไปร่วมงานไม่ได้"
การปฏิเสธควรจะสั้น กระชับ เรียบง่ายและสุภาพ
แค่พูดว่าขอโทษที่ไปไม่ได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติม

26. คุณถูกชวนให้ไปงานเลี้ยงของแผนกและอยากจะไป
แต่เผอิญคุณมีนัดกับคนที่บ้านไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว ควรจะตอบปฏิเสธและกล่าวแสดงความเสียใจ
จากนั้นอธิบายเหตุผลสั้นๆ โดยหลีกเลี่ยงการตำหนิคนที่ทำให้คุณไปร่วมงานไม่ได้ โดยกล่าวว่า
"บิล ผมอยากจะมางานจริงๆ แต่เผอิญวันนี้เป็นวันเกิดของซาร่าห์ เราตกลงว่าจะฉลองกันเป็นพิเศษ
ผมนัดเธอไว้แล้วว่าจะไปทานอาหารค่ำด้วยกัน"
แทนที่จะเป็น
"แย่จังเลยบิล ผมอยากจะมาร่วมงานมากเลยน่ะ แต่เผอิญวันนี้เป็นวันเกิดของซาร่าห์ เธอฆ่าผมตายแน่
ถ้าผมมางานของแผนกแทนที่จะใช้เวลาอยู่ฉลองวันเกิดกับเธอ"

27. ไม่มีใครอยากถูกมองว่าเป็นคนที่หลอกได้ง่าย
แต่คุณเคยถูกต้อนให้พูดคำว่า ได้ ด้วยคำพูดคล้ายแบบนี้บ้างไหม?
"จริงๆ นะโจ คุณเป็นคนเดียวเท่านั้นที่จะทำงานนี้ได้!"
วิธีการตอบปฏิเสธคำพูดที่เป็นกับดักล่อเช่นนี้คือ การหยอดกลับไปในลักษณะ เดียวกับที่อีกฝ่ายหยอดมา
โดยคุณอาจจะตอบกลับไปว่า
"อย่าทำให้ผมตัวลอยเลย จอห์นและแมรี่ต่างหากที่เหมาะกับงานนี้ แถมตอนนี้ทั้งสองคนก็กำลังว่างอยู่พอดีเลย"

28. เมื่อต้องตอบปฏิเสธ ควรตามด้วยการอธิบาย ไม่ใช่การแก้ตัว
"แซม ขอโทษด้วยน่ะที่เปลี่ยนสถานที่ประชุมให้ไม่ได้ คุณก็รู้ว่าเราต้องจองสถานที่ล่วงหน้า
และวางเงินมัดจำไปแล้ว ผู้ร่วมประชุมคนอื่นต่างก็เห็นพ้องกับสถานที่จัดการประชุม
ถ้าจะต้องเปลี่ยนเราคงจะต้องเสียเวลาแจ้งให้ทุกคนทราบ และคงจะต้องมาเริ่มต้นกันใหม่
เพราะอาจจะมีคนไม่สะดวกถ้าเปลี่ยนสถานที่
ฉันหวังว่าคุณคงหาทางเปลี่ยนแผนของคุณ เพื่อให้สามารถมาร่วมประชุมกับเราได้"

29. ขยายขอบเขตการปฏิเสธของคุณจากตัวคุณเองออกไปสู่คนหมู่มาก หรือหาข้ออ้างอิงที่มีเหตุผม
รวมทั้งการใช้ตัวเลขต่างๆ เพื่อสนับสนุนการตอบปฏิเสธของคุณ ให้ดูมีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักยิ่ง ขึ้น
เช่น "ตายจริง ซาร่า ได้ยินว่า คุณมีนัดอื่นซ้อนกับการประชุมของเราใช่ไหม หวังว่าคุณคงหาทางเปลี่ยนเวลาได้นะ
ฉันอยากจะเปลี่ยนเวลาประชุมให้คุณจังเลย และต้องคิดถึงผู้เข้าร่วมประชุมอีก 15 คนว่า
เขาจะว่างกันหรือเปล่าก็ไม่รู้ นอกจากนี้ทุกคนก็ยืนยันแล้วว่า วันที่ 12 ตอน 9 โมงเช้ามาได้ไม่มีปัญหา
หวังว่าคุณคงจะเข้าใจนะ มีอะไรพอที่ฉันจะช่วยได้บ้างไหม
เพื่อให้คุณสามารถปรับเปลี่ยนเวลานัดของคุณ เพื่อให้คุณมาประชุมกับเราได้?"

30. ความรุนแรงในที่ทำงานเกิดขึ้นได้ทุกวี่ทุกวัน แต่ไม่ใช่ในรูปของการชกต่อยหรือใช้กำลัง
แต่มักจะเป็นการถากถางหรือหมิ่นกันด้วยวาจา ด้วยฝีมือของผู้ที่ชอบระรานคนอื่นโดยไม่มองดูความเป็นจริง
และไม่เคยเห็นชอบกับความคิดความอ่านของคุณแม้แต่น้อย เขาพยายามที่จะโจมตีความคิดเห็นของคุณให้จมดิน
ด้วยการใช้คำพูดวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นการแสดงความดูหมิ่น

การพูดว่า ไม่ กับการกระทำเช่นนี้ คือ อย่ายอมลงให้ และคุณจะต้องข่มใจอย่าให้เกิดการทะเลาะวิวาท
โดยการให้อีกฝ่ายเป็นผู้เริ่มก่อน เมื่อเขาเริ่มพูดจาถากถาง ขอให้คุณยิ้มสู้เข้าไว้ แล้วตอบกลับไปว่า
"ผมเข้าใจนะบิล ว่าคุณไม่เห็นด้วยกับความคิดของผม เพราะคุณแสดงออกมาอย่างเห็นได้ชัด
ซึ่งนั่นก็เป็นสิทธิของคุณ และไม่แน่คุณอาจจะคิดถูกก็ได้
แต่ผมคิดว่าแผนงานของผม น่าจะเหมาะกับความต้องการอย่างเร่งด่วนที่เรากำลัง เผชิญอยู่ในขณะนี้
และถ้าผมได้มีโอกาสอธิบาย ผมคิดว่า เราทุกคนก็น่าจะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับแผนนี้ดี
จะใช้ จะเปลี่ยน หรือจะโยนมันทิ้งไปซะ"

31. ที่ทำงานคือสังคมเล็กๆ ซึ่งไม่แตกต่างจากสังคมอื่น ที่เราอาจจะสร้างได้ทั้งมิตรและศัตรู
แต่โดยปกติแล้วคุณคงเจอกับคนที่รู้สึกดีกับคุณมากกว่าคนที่คิดร้าย
แต่คุณจะทำอย่างไร ถ้าเพื่อนร่วมงานพยายามจะคัดค้านความคิดเห็นของคุณ
และขัดขวางการทำงานของคุณเป็นประจำ?
คุณอาจจะพูด ไม่ กับพฤติกรรมเช่นนี้ โดยการโต้กลับคนนิสัยเสียด้วยการกระทำในลักษณะเดียวกัน
แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะเท่ากับว่า คุณเองก็สนับสนุนพฤติกรรมอันไม่สมควรนั้นด้วยเช่นกัน
ยิ่งโต้กันไปโต้กันมานานวันเข้า ก็จะรุกลามกลายเป็นทะเลาะวิวาทที่ยืดเยื้อ ซึ่งคุณอาจจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
แทนที่จะโต้ตอบ คุณควรพยายามหาหนทางเปลี่ยนศัตรูของคุณให้กลายมาเป็นมิตร
เมื่อคุณมีความคิดอะไรใหม่ คุณควรนำมันไปคุยกับเขาก่อนที่จะเอาเข้าที่ประชุม ยกตัวอย่างเช่น
"คาร์ล ขอความเห็นสักนิดจะได้ไหม ผมรู้มาว่าคุณสนใจเรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นพิเศษ
เผอิญลูกค้ารายใหม่ของผมผลิตอุปกรณ์ประเภทนี้พอดี ผมมีความคิดที่จะ....
คุณคิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง พอจะใช้ได้ไหม?"

ถ้าคุณทำให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในแผนงานของคุณได้ คุณก็มีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากเขา
แต่สิ่งที่คุณต้องระวังให้ดีก็คือ อย่าให้เขามาแย่งผลงานของคุณไปเสียล่ะ

32. พวกปากหอยปากปู น่ารำคาญจริงๆ
คนพวกนี้คือเพื่อนร่วมงานหรือผู้ร่วมงาน ที่ชอบพูดจากวนโมโหและสร้างความ รำคาญใจ
ในทางทฤษฎีคุณควรจะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องไร้สาระ และไม่ควรจะเอามาใส่ใจ
แต่ในความเป็นจริง คนเหล่านี้คือพวกชอบวิพากษ์วิจารณ์และประสงค์ร้าย การพูดว่า ไม่ กับคนประเภทนี้
จำเป็นต้องใช้วิธีการเปลี่ยนเป้าโจมตีของพวกเขา จากตัวคุณไปเป็นอย่างอื่นที่ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

พวกปากหอยปากปู : "ว่าไงบ๊อบ เมื่อไรนโยบายของคุณจะคลอดซะทีล่ะ ทำงานช้ายังกับเต่าล้านปีแน่ะ"
บ๊อบ : "ถ้างั้นก็ดีเลย เรามานั่งคุยเรื่องนโยบายกันเลยดีไหม?"
การตอบกลับเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า บ๊อบได้กันตัวเองออกจากคำกล่าวหาที่ว่าเขาทำงานช้า
โดยเปลี่ยนเป็นหัวข้อการสนทนาให้หลุดจากตัวของเขา มาเป็นเรื่องของนโยบาย

33. เมื่อเพื่อนร่วมงานพยายามที่จะแย่งงานของคุณ
คุณจำเป็นจะต้องออกมาปกป้องสิทธิของคุณเอาไว้ ด้วยการพูดว่า ไม่
ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อศักดิ์ศรี แต่เพื่อความอยู่รอด ทางที่ดีคือพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า
แต่ต้องทำให้ทั้งคุณและเขา เข้าใจถึงหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละคนอย่างชัดเจน แจ่มแจ้ง
โดยคุณควรจะเข้าหาเพื่อนร่วมงานของคุณ เพื่ออธิบายถึงงานที่คาบเกี่ยวกันอยู่ ระหว่างคุณและเขา
และถ้าเป็นไปได้คุณทั้งสองควรร่วมกันแก้ไขปัญหากันเอง
โดยไม่ต้องดึงเอาผู้ที่มีตำแหน่งงานสูงกว่าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ทางที่ดีเมื่อได้ข้อสรุปออกมาแล้ว ก็ควรจะทำบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน

34. ในขณะที่การแจ้งสาเหตุของการตอบปฏิเสธคือสิ่งที่ดีและมีเหตุผล
แต่ในบางครั้ง การพูด ไม่ เพียงคำเดียว ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
เพราะการยุติการสนทนา ที่ยืดเยื้อจนอาจจะลุกลามกลายเป็นการโต้เถียงด้วยการ พูด ไม่
คือสิ่งที่ช่วยทำให้ทุกอย่างสงบลงได้
ยกตัวอย่างเช่น "ฟังนะ เฟร็ด คำตอบของผมคือไม่ ผมไม่อยากจะทำ"


ที่มา
http://www.yousaytoo.com/34/64273
http://www.thaigaming.com/e-book-shelf/54166.htm