สารัญ Creditbank Credit card bank

123

11/15/2552

การบ้าน 7 ข้อ ต้องทำก่อนซื้อ..หุ้นกู้

การบ้าน 7 ข้อ ต้องทำก่อนซื้อ..หุ้นกู้
โดย : กาญจนา หงษ์ทอง

"หุ้นกู้เอกชน" มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย ถ้าคิดจะลงทุนต้องตอบให้ได้ก่อนว่า ตัวแปรอะไรบ้างที่ต้องดู คำถามอะไรบ้างที่ต้องตอบตัวเองก่อนตัดสินใจ

เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยง กฎเหล็กของการลงทุน จึงไม่ควรมองแต่ด้านที่หอมหวานของผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสำรวจความเสี่ยงให้รอบด้าน หาจุดอ่อนจุดแข็งมาช่างน้ำหนัก เพื่อเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ

“ธิติ ตันติกุลานันท์” ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ คำถามจากนักลงทุนและผู้ฝากเงินที่ว่า

“ลงทุนที่ไหนดี...?”

นั่นเป็นคำถามที่ทั้งผู้ฝากเงินและนักลงทุนต่างต้องการคำตอบในเวลานี้ ด้วยสภาวะการลงทุนในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบทั้งจากปัญหาทางการเมืองภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยทำให้ทางเลือกในการลงทุนมีแนวโน้มลดลง และต้องระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น

"การลงทุนในหุ้นกู้จึงเป็นอีกทางเลือกที่ทั้งผู้ฝากเงินและนักลงทุนที่ควรจะพิจารณาแบ่งสรรเงินมาลงทุนไว้ในพอร์ตของคุณเอง และถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีในช่วงเวลานี้ เพราะนอกเหนือจากที่จะมีรายได้ประจำ และมีผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยแล้ว ยังมีสภาพคล่องจากการซื้อขายผ่านตลาดรองตราสารหนี้อีกด้วย และที่สำคัญผู้ลงทุนสามารถเลือกจังหวะในการซื้อขายหุ้นกู้ผ่านตลาดรอง เพื่อเป็นการลงทุนระยะสั้นและทำกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นกู้ได้อีก"

แต่หุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนเองก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าทุกตัวจะดีและเพอร์เฟคท์จนน่าลงทุนไปเสียหมด เอาเป็นว่า ก่อนจะลงทุน ธิติแนะว่าควรสำรวจ 7 ข้อเหล่านี้ให้ถ้วนถี่ จะได้ไม่ตัดสินใจผิดพลาด

Oเรทติ้งจำเป็นแค่ไหน

ธิติอธิบายว่าการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นความเห็นจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับ เช่น TRIS หรือ Fitch ซึ่งประเมินจากทั้ง 1) ข้อมูลเชิงจำนวน เช่น ความสามารถในการทำกำไร โครงสร้างเงินลงทุน และกระแสเงินสด และ 2) ข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น การวิเคราะห์ความเสี่ยงของอุตสาหกรรม และความเสี่ยงของกิจการ ซึ่งสะท้อนระดับความสามารถในการชำระหนี้

โดยทั่วไปอันดับความน่าเชื่อถือในระดับน่าลงทุน (Investment grade) หมายถึง อันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับ BBB- ขึ้นไปจนถึง AAA (เรียงตามลำดับความเสี่ยงสูงกว่าไปต่ำกว่า) ทั้งนี้ ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้ลงทุนแต่ละรายจะแตกต่างกันไป

ด้าน "ณัฐวุฒิ สัจจพุทธวงค์" นักเศรษฐศาสตร์การเงินอาวุโส กลุ่มบริหารการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า คำว่าเครดิตเรทติ้ง (Credit Rating) หรืออันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้เป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ ในการนำมาพิจารณาเลือกซื้อหุ้นกู้ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศจะทำการจัดลำดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่มีขายในตลาดทุกตัว โดยดูจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัท อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ผลกำไรของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคต

นอกจากนี้ การพิจารณาเรทติ้งทำให้เราสามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนของหุ้นกู้ของแต่ละบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ หรือแม้กระทั่งเปรียบเทียบผลตอบแทนของหุ้นกู้ต่างอุตสาหกรรมกันที่มีเรทติ้งเท่ากันเพื่อดูว่าอุตสาหกรรมใดหรือบริษัทใดให้ผลตอบแทนดีกว่ากันบนระดับความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น เรทติ้งจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการพิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นกู้

"วิศิษฐ์ ชื่นรัตนกุล" ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บลจ.ธนชาตมองว่า เรทติ้งมีความจำเป็น แต่เครดิตเรทติ้ง AA ไม่ได้รับประกันว่าหุ้นกู้นี้จะไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ สิ่งที่สำคัญการวิเคราะห์เครดิตของบริษัท คือ ทั้งงบการเงิน และผู้บริหารของบริษัท และต้องติดตามตรวจสอบตลอดเวลา เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง มีผลกระทบต่อบริษัท ทำให้สถานะทางการเงินเปลี่ยนแปลงไป

Oสำรวจตัวตน-เนื้อในของบริษัท

ส่วนการสำรวจลักษณะการประกอบธุรกิจของผู้ออกหุ้นกู้นั้น ธิติมองว่าโดยทั่วไปความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของหุ้นกู้ที่ลงทุนมาจากการผลการดำเนินงานของผู้ออกหุ้นกู้ ดังนั้น ผู้ลงทุนควรพิจารณาถึงความสามารถในการทำกำไร ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ความยืดหยุ่นของจังหวะการลงทุนของกิจการ รวมถึงกฎระเบียบของทางการ นอกจากนี้ ยังควรคำนึงถึงชื่อเสียงของผู้บริหารและผู้ออกหุ้นกู้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถศึกษาข้อมูลได้จากหนังสือชี้ชวน

ณัฐวุฒิ สริมว่าการเข้าใจในบริษัทหรืออุตสาหกรรมของบริษัทที่เราจะลงทุนในหุ้นกู้นั้น เป็นสิ่งสำคัญไปไม่น้อยกว่าเรื่องอื่นๆ โดยที่การพิจารณาถึงบริษัทเจ้าของหุ้นกู้นั้น อยากจะให้พิจารณาสองประเด็นหลัก

ประเด็นที่หนึ่ง..เป็นการพิจารณาเชิงคุณภาพ (Qualitative) อันประกอบไปด้วย ทำความเข้าใจบริษัทที่เป็นเจ้าของหุ้นกู้นั้นทั้งในส่วนของปัจจัยพื้นฐานของบริษัท รูปแบบการบริหารงาน นโยบายและกลยุทธ์ คู่แข่ง รวมไปถึงอุตสาหกรรมนั้นว่าเป็นอย่างไร เป็นต้น

ประเด็นที่สอง..ที่ต้องพิจารณาคือการพิจารณาเชิงปริมาณ (Quantitative) อันได้แก่ การวิเคราะห์งบการเงินของบริษัท โดยอาจดูสัดส่วนทางการเงินหลักๆ เช่น ความสามารถในการทำกำไร สัดส่วนหนี้สินต่อทุน เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันอีกด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในส่วนการวิเคราะห์เจาะลึกนี้จะถูกครอบคลุมโดยกระบวนการจัดลำดับความน่าเชื่ออยู่แล้ว นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบได้จากลำดับความน่าเชื่อถือได้

วิศิษฐ์ บอกว่า สิ่งสำคัญในการพิจารณางบการเงิน คือความเห็นของ ผู้ตรวจสอบบัญชี ในหน้าแรกของงบการเงิน ถ้าผู้ตรวจสอบบัญชี มีความเห็นว่าไม่สามารถให้ความเห็นในงบได้ หรือมีข้อสงสัย แสดงว่าบริษัทนี้น่าจะมีปัญหา ถัดมาเป็นกระแสเงินสดของบริษัท หลายบริษัทมียอดขายเพิ่ม กำไรเพิ่ม แต่กระแสเงินสดติดลบ ซึ่งอาจจะเกิดการสร้างยอดขายเทียมเกิดขึ้น ลูกหนี้ปลอม ซึ่งในที่สุดไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ได้ ซึ่งในอดีตมีหลายบริษัทแล้ว

นอกจากนี้ เขาแนะให้ดูหนี้สินต่อทุน ซึ่งโดยทั่วไปไม่เกิน 1 เท่า ยกเว้น ธนาคารพาณิชย์ หรือ บริษัทที่ต้องลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมาก อีกทั้ง ยังจำเป็นต้องดูหมายเหตุประกอบงบการเงิน และผู้บริหารมีส่วนสำคัญมาก

บริษัทอยู่รอดหรือไม่ คณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารมีส่วนสำคัญ สิ่งที่ใช้ในการวิเคราะห์ วิสัยทัศน์ Corporate governance ไม่มีประวัติฉ้อโกง การปั่นหุ้น การถ่ายเทผลประโยชน์ออกจากบริษัท ลงทุนอยู่ในกรอบ ไม่ลงทุนในสิ่งที่ไม่ถนัด ความระมัดระวังในการบริหาร และการมีหน่วยงานตรวจสอบภายในที่เข้มแข็ง เป็นอิสระที่ขึ้นโดยตรงกับ คณะกรรมการบริษัท ทำให้สามารถกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Oผลตอบแทนเท่าไหร่

ผลตอบแทนจากการลงทุน หุ้นกู้ส่วนใหญ่ในตลาดให้ผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดอายุหุ้นกู้ (Fixed coupon) หรืออัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ทยอยปรับขึ้น (Step-up coupon) ซึ่งธิติแนะนำให้พิจารณาผลตอบแทนของหุ้นกู้ควบคู่กับอายุหุ้นกู้ อันดับความน่าเชื่อถือ และความเสี่ยงอื่นๆ ตามหลักที่ว่าผลตอบแทนสูงกว่าจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงกว่า (High risk high return) ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และผลตอบแทนที่คาดหมาย

ทางด้านณัฐวุฒิเห็นว่าผลตอบแทนของหุ้นกู้นั้นจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่างๆ โดยหากพิจารณาเปรียบเทียบในเรื่องของความเสี่ยงแล้ว ผลตอบแทนของหุ้นกู้จะย่อมสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากมีความเสี่ยงทางด้านเครดิต

นอกจากนี้ แล้วยังต้องสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ด้วยเนื่องจากในปัจจุบันนั้นการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ยังได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน ซึ่งเปรียบเสมือนกับไม่มีความเสี่ยงนั่นเอง ทั้งนี้ ผู้ลงทุนอาจสงสัยว่าส่วนต่างที่เหมาะสมหรือต้องสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลหรือเงินฝากเท่าไหร่ถึงจะพอดี ในประเด็นนี้ต้องพิจารณาจากความเสี่ยงของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ ว่าในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งนั้นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมประเภทนั้นเป็นอย่างไร

ตัวอย่างเช่นในบางช่วงที่ความเสี่ยงต่ำหรือผลการดำเนินงานดีมากๆ ส่วนต่างของผลตอบแทนอาจจะไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล ในทางตรงกันข้ามในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น ผลตอบแทนของหุ้นกู้อาจจะสูงมากขึ้นเมื่อเทียบกับการลงทุนอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้เครดิตเรทติ้งยังมีผลต่อผลตอบแทนด้วย โดยหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรทติ้งต่ำจะมีผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรทติ้งสูงกว่าในอายุของหุ้นกู้ที่เท่ากัน ส่วนระยะเวลาและผลตอบแทนของหุ้นกู้นั้น โดยปกติแล้วหุ้นกู้ที่มีอายุยาวมักจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ที่มีอายุสั้น

Oความเสี่ยง&จุดอ่อนของหุ้นกู้ล็อตนั้น
ข้อแนะนำของธิติเกี่ยวกับเรื่องอายุของหุ้นกู้ที่เหมาะกับการลงทุนนั้น เขาบอกว่า ผู้ลงทุนควรเลือกซื้อหุ้นกู้ที่มีอายุสอดคล้องกับระยะเวลาการลงทุนที่ผู้ลงทุนจะสามารถถือหุ้นกู้จนครบกำหนดไถ่ถอนได้ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านราคา (Price risk) ในกรณีต้องขายหุ้นกู้คืนก่อนวันครบกำหนดชำระในตลาดรอง และความเสี่ยงด้านการลงทุนต่อ (Reinvestment risk) ที่อาจทำให้ผู้ลงทุนมิได้อัตราผลตอบแทนรวมตามเป้าหมาย นอกจากนี้ผู้ลงทุนยังควรพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ให้สอดคล้องกับอายุของหุ้นกู้ด้วย

ณัฐวุฒิ ให้แง่คิดเรื่องความเสี่ยงของหุ้นกู้ ว่าโดยหลักคือความเสี่ยงทางด้านเครดิต (Credit Risk) นั่นเอง กล่าวคือการลงทุนในหุ้นกู้นั้นเปรียบเสมือนการปล่อยกู้ให้แก่เจ้าของกิจการหรือบริษัท ซึ่งแตกต่างไปจากการลงทุนในหุ้นซึ่งผู้ลงทุนจะเปรียบเสมือนเป็นเจ้าของกิจการ

นอกจากนี้ หุ้นกู้ส่วนใหญ่โดยเฉพาะหุ้นกู้เอกชนโดยส่วยใหญ่แล้วมักจะไม่มีการรับประกัน จึงมีความเสี่ยงที่เงินต้นจะสูญหากบริษัทหรือกิจการที่เราถือครองหุ้นกู้นั้นอยู่ประสบปัญหาล้มละลายหรือไม่สามารถชำระหนี้ได้ เราอาจเรียกความเสี่ยงประเภทนี้อีกแบบหนึ่งว่า Default Risk นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในเรื่องสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ในการซื้อขายของหุ้นกู้ล็อตนั้นในตลาดรอง

Oอายุสั้นยาวสำคัญหรือไม่

การพิจารณาอายุของหุ้นกู้ที่จะลงทุนนั้น ณัฐวุฒิมองว่าสามารถพิจารณาได้หลายแนวทาง ในอันดับแรกนั้นเราต้องมั่นใจในบริษัทที่เราจะลงทุนเสียก่อน เนื่องจากการลงทุนในหุ้นกู้นั้นเปรียบเสมือนการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจหรือบริษัทนั้น หากเรามีความมั่นใจอย่างมากต่อความสามารถของผู้บริหาร แนวโน้มอุตสาหกรรมและที่สำคัญอนาคตของบริษัทนั้นการลงทุนในหุ้นกู้ระยะยาวอาจเป็นทางเลือกที่ดีมากในสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเช่นนี้ได้

นอกจากนี้ การลงทุนในหุ้นกู้อายุระยะสั้นกับระยะยาวนั้น ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบกันคือสภาพคล่องของผู้ลงทุนและความต้องการใช้เงินในอนาคต การลงทุนอายุสั้นหรือยาวจะต้องเหมาะสมกับแผนการออมและความต้องการใช้เงินของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ในส่วนของผลตอบแทนนั้นแน่นอนว่าหุ้นกู้อายุยาวย่อมให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นกู้อายุสั้น

สำหรับประเด็นเรื่องสภาพคล่องนั้น ธิติให้ข้อมูลว่าโดยทั่วไปหุ้นกู้แต่ละล็อตจะมีปริมาณหุ้นกู้ในตลาดมากน้อยต่างกันไปขึ้นกับความต้องการในการระดมทุน ปริมาณการซื้อขายหลังจากวันออกหุ้นกู้จนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนมักจะมีไม่มากนัก เนื่องจากผู้ลงทุนส่วนใหญ่มีความประสงค์จะลงทุนตลอดอายุหุ้นกู้ อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนสามารถแจ้งความประสงค์ซื้อขายในตลาดรองผ่านธนาคารต่างๆ ที่รับให้บริการนี้ ซึ่งราคาที่ได้จะขึ้นกับสภาวะตลาดในขณะนั้น

Oเงินลงทุนของคุณร้อนหรือเย็นนานแค่ไหน

คำว่าเงินลงทุน "ร้อน" หรือ "เย็น" นั้นก็คือความหมายของคำว่าความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) นั่นเอง ณัฐวุฒิบอกว่าการจะลงทุนในหุ้นกู้นั้นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่าหุ้นกู้นั้นเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำกว่าเงินฝากธนาคารพาณิชย์หรือพันธบัตรรัฐบาล ก่อนที่จะลงทุนจึงต้องพิจารณาจัดสรรสภาพคล่องของผู้ลงทุนก่อน โดยอาจกันเงินออมระยะยาวจริงๆ มาลงทุนในหุ้นกู้ โดยเงินออมระยะยาวนี้ อาจจะต้องหักเงินเผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินออกไปด้วย เนื่องจากหากนักลงทุนมีความจำเป็นต้องจะต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน การขายหุ้นกู้ออกมาในตลาดรองในบางช่วงบางเวลาอาจจะได้ราคาที่ต่ำมากจนขาดทุนได้

ธิติ ให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่าหุ้นกู้บางรุ่นอาจมีลักษณะเฉพาะต่างจากหุ้นกู้ปกติทั่วไป เช่น มีสิทธิแฝงที่อาจแปลงสภาพหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญได้ (Convertible bond) ให้สิทธิผู้ออกหุ้นกู้เรียกคืนก่อนกำหนดได้ (Callable bond) ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้อาจเรียกคืนเมื่ออัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้สูงเกินไปทำให้ผู้ลงทุนมิได้ผลตอบแทนเป้าหมายตลอดอายุหุ้นกู้ หรือให้สิทธิผู้ถือหุ้นกู้ขายคืนก่อนกำหนดได้ (Puttable bond) มีลักษณะด้อยสิทธิกว่าหนี้อื่น (Subordinated bond) ซึ่งผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจในเงื่อนไขของหุ้นกู้ก่อนการตัดสินใจลงทุน

ด้านวิศิษฐ์เสริมว่าเงินลงทุนในหุ้นกู้ต้องเป็นเงินเย็น เนื่องจากหุ้นกู้ไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขาย หุ้นกู้ที่มีเครดิตเรทติ้งสูงๆ AA ขึ้นไป จะมีสภาพคล่องสูงกว่าหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรทติ้งต่ำกว่าแต่ผลตอบแทนก็น้อยกว่า ถ้ามีความต้องการเงินก่อนอายุหุ้นกู้ครบกำหนดต้องการ อาจจะขาดทุนได้ ถ้าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดปรับตัวสูงขึ้น

Oอ่านทิศทางดอกเบี้ย

ธิติยังให้มุมมองถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเพิ่งปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 1.25% ในปัจจุบัน ว่าน่าจะใกล้แตะระดับต่ำสุดแล้ว ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยระยะกลาง (2-5 ปี) และอัตราดอกเบี้ยระยะยาว (10 ปีขึ้นไป) มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ เนื่องจากปริมาณพันธบัตรของภาครัฐที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในช่วงปีหน้า

ดังนั้น สภาพคล่องในระบบที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นจากปริมาณพันธบัตรที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น และยังทำให้อัตราผลตอบแทนระยะกลางและระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระยะต่อไป

ณัฐวุฒิเห็นว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาก่อนการเลือกซื้อหุ้นกู้ โดยความเสี่ยงประเภทนี้เรามักเรียกกันว่า ความเสี่ยงจากการลงทุนต่อ (Re-investment risk) หากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในอนาคตมีแนวโน้มปรับตัวลดลง การเลือกซื้อหุ้นกู้ที่มีอายุปานกลางไปจนถึงหุ้นกู้อายุยาวอาจทำให้การลงทุนของเราคุ้มค่ากว่าการซื้อหุ้นกู้อายุสั้นๆ

ในทางตรงกันข้ามหากอัตราดอกเบี้ยในอนาคตมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ควรจะเลือกซื้อหุ้นกู้ที่มีอายุสั้นๆ พอครบกำหนดก็จะสามารถนำเงินลงทุนในส่วนนั้นมาลงทุนในหุ้นกู้ตัวใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามการปรับตัวของดอกเบี้ยได้ เป็นต้น

"จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น อาจจะฟังดูยุ่งยากสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่ไม่เคยลงทุนในหุ้นกู้มาก่อน แต่หากพิจารณาให้ดีแล้วสามารถสรุปประเด็นความเสี่ยงหรือสิ่งที่ต้องพิจารณาได้เพียง 4 ข้อหลัก ๆ ก่อนจะทำการลงทุนในหุ้นกู้ อันได้แก่ Credit หรือ Default risk, Market risk, Liquidity risk และ Re-investment risk ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นก่อนจะตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการออมในรูปแบบเดิมๆ "ข้อแนะนำของณัฐวุฒิ

ธิติ สรุปทิ้งท้ายว่าปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาเหล่านี้ คือสิ่งที่นักลงทุนควรคำนึงถึง แม้ว่าในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจปกติ พอร์ตของคุณจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยง เพื่อลดทอนความเสียหายจากการลงทุนที่อาจจะเกิดขึ้นในเวลาใดเวลาหนึ่ง

"ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจเอกชนได้มอบหมายให้เครือธนาคารกสิกรไทยทำหน้าที่ที่ปรึกษาในการออกหุ้นกู้ และเป็นผู้สนับสนุนในการเสนอขายหุ้นกู้ให้กับผู้ลงทุนสถาบันการเงินและประชาชนทั่วไป ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้นำด้านตลาดตราสารหนี้ในตลาดแรกและตลาดรอง โดยได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ ด้วยความไว้วางใจ และความเชื่อถือจากภาคเอกชนนี้เอง ส่งผลให้เครือธนาคารฯ ได้รับรางวัลด้านตลาดตราสารหนี้ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ในปี 2550-2551 ที่ผ่านมา"

ถ้ารักจะลงทุนอย่างปลอดเสี่ยง การบ้าน 7 ข้อหุ้นกู้เอกชนทิ้งโจทย์ไว้ให้ คงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากมากความจนเกินไป