สารัญ Creditbank Credit card bank

123

11/17/2552

หวั่นผลเสีย "การออมเงินเพื่อกู้"แนะเปลี่ยนเป็น "การออมเงินเพื่อให้"

หวั่นผลเสีย "การออมเงินเพื่อกู้"แนะเปลี่ยนเป็น "การออมเงินเพื่อให้"
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชาวบ้าน 15 จังหวัดภาคเหนือ จัดงานสัมมนาเพื่อสรุปบทเรียนพื้นที่ตำบลนำร่อง 38 ตำบล พัฒนาระบบสวัสดิการชาวบ้านภาคเหนือ และเตรียมเสนอพื้นที่ตำบลขยาย 130 ตำบลกองทุนสวัสดิการชาวบ้านขึ้น ณ วัดก่วมใต้ ตำบลชมพู อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีแกนนำเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาควิชาการ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้กว่า 400 คน

นายสามารถ พุทธา ประธานที่ปรึกษากองทุนสวัสดิการชาวบ้านภาคเหนือ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการจัดกองทุนสวัสดิการชาวบ้าน 38 ตำบลนำร่องในเขตภาคเหนือ เป็นรูปแบบการออมเงินวันละบาท ซึ่งเป็นการปรับฐานให้คนมารวมกัน เมื่อคนรวมกันมากขึ้นก็สามารถรวมปัญญาของแต่ละคน แล้วขยายผลไปสู่ชุมชนใกล้เคียง จนมีสมาชิกและเครือข่ายเพิ่มขึ้น แล้วนำเงินออมที่มีมาจัดสวัสดิการให้แก่กัน เพื่อความมั่นคงในชีวิต ดูแลช่วยเหลือกันบนพื้นฐานของความผูกพัน เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน แบ่งทุกข์ร่วมกันในชุมชน

“ตัวอย่างการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวบ้านจังหวัดลำปาง ที่เน้นการ ออมเพื่อกู้ สู่การออมเพื่อให้ สร้างความเลื่อมใสและศรัทธา ในปี 2542 เราให้สมาชิกในกลุ่มออมทรัพย์ของเขตเทศบาลลำปางไปเรียนรู้จากหลายชุมชน พอกลับมาดำเนินการประมาณหนึ่งปี จึงรู้ว่าการออมเพื่อปล่อยเงินกู้ให้กับสมาชิกเป็นการสร้างภาระหนี้สินให้กับชาวบ้าน หนำซ้ำยังเป็นการทำลายระบบครอบครัวให้แตกแยกเรื่อยมา การออมเพื่อกู้เป็นการสร้างศัตรูอย่างถาวร พอถึงกำหนดส่งคืนไม่มีเงินมาคืนกลุ่มออมทรัพย์ ทำให้ครอบครัวทะเลาะกันอยู่เรื่อยๆเกิดปัญหาไม่มีวันจบสิ้น” ประธานที่ปรึกษากองทุนสวัสดิการชาวบ้านภาคเหนือ กล่าวและเสริมว่า

ต่อมาจึงได้ปรับแนวคิดการออมทรัพย์ดังกล่าวใหม่เป็น “การออมทรัพย์เพื่อให้” จะได้ผลบุญมากกว่า ซึ่งชาวบ้านก็ให้ความสนใจ จึงนำเงินมาออมทรัพย์ร่วมกัน แล้วนำมาจัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกในยามเดือดร้อน การออมเพื่อให้เริ่มขยายแนวความคิดไปสู่ชุมชนใกล้เคียง สามารถแก้ไขปัญหาความจนได้ จากนั้นก็เริ่มขยายสู่ระดับอำเภอ คือ เถิน เกาะข่า แม่เมาะ และอำเภอเมืองกว่า 10 ตำบล ดำเนินการมาได้ 2-3 ปี มีสมาชิกหลายพันคน

การจัดการกองทุนนั้นแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนแรก 50% ของเงินออมทรัพย์นำมาจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกแบบครบวงจร ให้สวัสดิการสมาชิกไปแล้ว 3 ล้านกว่าบาท ตั้งแต่เกิดจนตาย นอกจากนี้ยังให้สวัสดิการสำหรับพี่น้องที่ไปขึ้นทะเบียนคนจนในเรื่องการคลอดบุตร เยี่ยมไข้ให้สงเคราะห์ อีก 2 แสนกว่าบาท 650 คน ส่วนที่สอง 30% นำมาทำธุรกิจชุมชน เพื่อสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน จัดตั้งเป็นกองทุนรับซื้อขยะ ทำสวนผักปลอดสาร สร้างธนาคารขี้วัวให้สมาชิกที่เลี้ยงวัวนำขี้วัวมาออมแทนที่จะนำเงินมาออมแต่ใช้ขี้วัว เอามาทำปุ๋ยอินทรีย์แจกจ่ายให้กับสมาชิก และส่วนที่สาม 20% นำมาเป็นกองทุนกลางเพื่อเป็นค่าเดินทางให้เครือข่ายกองทุนสวัสดิการมาพบปะกันทุกวันที่ 3 ของเดือนเพื่อนำความรู้ใหม่มาแลกเปลี่ยนกัน

“การจัดสวัสดิการชาวบ้านจึงเป็นความสุขของชุมชน ยึดถือปฏิบัติให้รู้จักกลับมารู้จักเก็บออม รู้จักกินอยู่อย่างพอเพียง นำไปปรับใช้จนนำไปสู่การมีสัจจะร่วมกัน การมีส่วนร่วมจึงเป็นพลังแห่งความสามัคคี อยากให้อีก 130 ตำบลที่กำลังจะตั้งกองทุนสวัสดิการชาวบ้าน ยึดหลักของการมีสัจจะ ความเกื้อกูลกันในชุมชน” นายสามารถ กล่าวทิ้งท้าย