บัวหลวง Money Tips : ความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้
ชนิตราภา นาวาเจริญ
บลจ.บัวหลวง จำกัด
ถ้าพูดถึงคำว่า “ความเสี่ยง” คงจะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าคำๆนี้ เป็นคำที่น่ากลัวอีกคำหนึ่งสำหรับนักลงทุน และเราก็มักจะได้ยินคำเตือนที่ว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน วันนี้เราจึงนำนักลงทุนมารู้จักกับคำว่าความเสี่ยง เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนในแต่ละครั้ง
ความเสี่ยง หมายถึง โอกาสที่นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่นักลงทุนได้คาดหวังไว้ ความเสี่ยงในการลงทุนจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะความเสี่ยงของหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่ไปลงทุน ในที่นี้เราจะขอกล่าวถึง ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับนักลงทุนได้ใช้ในการตัดสินใจที่จะลงทุนในตราสารหนี้ ว่าคุ้มค่าหรือไม่ และเพื่อทำให้นักลงทุนมั่นใจในการตัดสนใจลงทุนของตน
ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้มีอยู่หลายอย่าง ในที่นี้เราจะยกตัวอย่างความเสี่ยงที่เห็นได้เด่นชัด เพื่อให้นักลงทุนได้นำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบกับการตัดสินใจลงทุน
ความเสี่ยงด้านราคาและการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงด้านราคาเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด ส่งผลให้เมื่อถึงวันสิ้นสุดระยะเวลาการลงทุน ราคาของตราสารหนี้ที่ขายได้จริงจะแตกต่างจากระดับที่คาดหวังไว้แต่แรก ส่งผลให้กำไรจากส่วนต่างของราคาไม่เป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้ เนื่องจากราคาของตราสารหนี้จะแปรผกผันกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้นจะทำให้มูลค่าของตราสารหนี้ลดลง ดังนั้น ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยจึงมีผลกระทบโดยตรงต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารหนี้ แต่อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ลงทุนที่ถือตราสารหนี้จนครบกำหนดไถ่ถอนคืนแล้ว ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงประเภทนี้ เพราะตราสารหนี้กำหนดเป็นการล่วงหน้าแล้วว่าราคาไถ่ถอนคืนจะเป็นราคาที่ตราไว้
ความเสี่ยงด้านเครดิต คือ ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ตราสารหนี้เป็นหลักทรัพย์ที่กำหนดให้ผู้ออกจ่ายดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าให้ตรงตามเวลาที่กำหนด ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย และกำไรส่วนต่างของราคา ซึ่งการที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนครบถ้วนตามที่กล่าวไว้นั้น ผู้ออกตราสารหนี้จะต้องมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายเงินตามภาวะผูกพันของหุ้นกู้ อย่างไรก็ดี ถ้าผู้ออกมีผลประกอบการตกต่ำซึ่งนำไปสู่การขาดสภาพคล่อง อาจจะทำให้ผู้ออกผิดนัดชำระหนี้หรือไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นของตราสารหนี้ได้เลย ส่งผลให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับชำระค่าดอกเบี้ยและเงินต้นตามที่กำหนดไว้ ความเสี่ยงประเภทนี้อาจพิจารณาได้จากการถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ออกและของตราสารหนี้จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง คือ ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของการซื้อขายตราสารหนี้ ทำให้ไม่สามารถซื้อขายตราสารหนี้ในจังหวะเวลาและราคาที่เหมาะสมได้ หรือหากต้องการจะซื้อขายจริงต้องมีการเพิ่มหรือลดราคา เพื่อดึงดูดให้มีการตกลงซื้อขายเกิดขึ้นโดยทั่วไปตราสารหนี้จะมีปริมาณการซื้อขายมากในช่วงที่ตราสารหนี้เพิ่งนำออกขายในตลาด แต่เมื่อเวลาผ่านไปสภาพคล่องของการซื้อขายก็จะคล่อยๆลดลง ทำให้นักลงทุนประสบปัญหาไม่สามารถขายตราสารหนี้ออกไปก่อนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนคืน ณ ราคาที่ควรจะเป็น แต่ถ้าผู้ลงทุนถือตราสารหนี้ไปจนถึงวันครบกำหนดไถ่คืนก็จะไม่มีความเสี่ยงชนิดนี้เกิดขึ้น
ความเสี่ยงจากผลกระทบของเหตุการณ์ คือ ความเสี่ยงจากการเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ได้คาดคิดกับผู้ออก ซึ่งมีผลต่อราคาของตราสารหนี้ เช่น ผู้ออกถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเงินครั้งใหญ่ การเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้โรงงานทำให้บริษัทต้องหยุดกิจการ เป็นต้น เหตุการณ์ต่างๆทั้งหมดนี้มีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท แม้เหตุการณ์เหล่านี้ไม่สามารถคาดการณ์ได้แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้น จึงจัดเป็นความเสี่ยงจากผลกระทบของเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิด
ความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ คือ ความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการลดลงของอำนาจซื้อ โดยปกติการลงทุนในตราสารหนี้เป็นการลงทุนระยะยาว อัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่มีการกำหนดเอาไว้คงที่ ซึ่งผลของเงินเฟ้อจะลดค่าของเงินลงทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละงวดและเงินต้นที่จะได้รับคืนในงวดสุดท้าย ความเสี่ยงชนิดนี้จะถูกรวมไว้ในอัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้นั้นๆ โดยทางอ้อมอยู่แล้ว และจะแปรผันโดยตรงกับอายุคงเหลือของตราสารหนี้
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน เกิดในกรณีที่ลงทุนในตราสารหนี้ในตลาดต่างประเทศที่มีการซื้อขายเป็นเงินตราต่างประเทศ และได้รับผลตอบแทนเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ในขณะที่ผู้ลงทุนชาวไทยสนใจผลตอบแทนในรูปสกุลเงินบาท ดังนั้นผู้ลงทุนชาวไทยที่สนใจลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศจำเป็นต้องพยากรณ์อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินบาทกับสกุลต่างประเทศนั้นๆ เพื่อแปลงค่าผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับเป็นเงินตราต่างประเทศให้เป็นผลตอบแทนในรูปเงินบาท ถ้าการพยากรณ์ไม่แม่นยำก็จะทำให้ผลตอบแทนในรูปเงินบาทแตกต่างจากระดับที่คาดไว้และเกิดความเสี่ยงดังกล่าวขึ้น แต่ในปัจจุบันก็มีวิธีที่จะลดความเสี่ยงดังกล่าวได้โดยผู้ออกอาศัยการรับประกันเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ล่วงหน้า
ความเสี่ยงในด้านต่างๆที่กล่าวมาแล้วนั้น ผู้ลงทุนก็สามารถที่จะป้องกันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการศึกษาข้อมูลของผู้ลงทุน ถ้าเรารู้จักศึกษาข้อมูลของตราสารที่จะไปลงทุน เราก็สามารถที่จะลดความเสี่ยงในด้านต่างๆลงได้ ดังคำเตือนที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”