สารัญ Creditbank Credit card bank

123

11/14/2552

อัตราเงินเฟ้อ ต.ค.ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน อยู่ที่ 3.9%

อัตราเงินเฟ้อ ต.ค.ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน อยู่ที่ 3.9%
อัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ... แนวโน้ม 2 เดือนสุดท้ายยังคงชะลอลงต่อเนื่อง

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : จากการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อโดยกระทรวงพาณิชย์ในวันนี้ (วันที่ 3 พฤศจิกายน 2551) อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2551 ปรับลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นสัญญาณดีที่เกิดขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจไทยค่อนข้างไร้ปัจจัยบวกอยู่ในขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้มในระยะเดือนถัดๆ ไป โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 (Year-on-Year) ชะลอลงอย่างมากจากร้อยละ 6.0 ในเดือนก่อนหน้า ต่ำที่สุดในรอบ 10 เดือน และต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 4.9 ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ชะลอลงจากร้อยละ 2.6 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าเพดานกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ที่ร้อยละ 0.0-3.5) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

- ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของเดือนตุลาคมเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน (Month-on-Month) ลดลงถึงร้อยละ 1.2 การปรับตัวลดลงของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ สาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากราคาอาหารสดประเภทข้าว ผักและผลไม้ปรับลดลง เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ราคาในหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลงอย่างมากตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคม ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงประมาณร้อยละ 30 จากระดับเมื่อสิ้นเดือนกันยายน ส่วนราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลงเฉลี่ยประมาณร้อยละ 20 สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.4

ทั้งนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะเดือนที่เหลือของปี คาดว่าจะปรับลดลงไปอีกตามทิศทางราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยความวิตกกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกคงจะเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้น ด้วยเหตุผลในด้านอุปสงค์ที่อ่อนตัวลง นอกจากนี้ เงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายนยังจะได้รับผลดีจากราคาอาหารสำเร็จรูปและค่าโดยสารที่ปรับลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าวัตถุดิบที่ปรับลดลง ทางกระทรวงพาณิชย์จึงได้ขอความร่วมมือจากร้านอาหารและผู้ขายอาหารสำเร็จรูปที่จำหน่ายในราคาสูงกว่า 25 บาทขึ้นไป ให้ปรับราคาลดลงเฉลี่ยจานละ 5 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน

ขณะที่คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางได้มีมติให้ปรับลดค่าโดยสารสำหรับรถร้อนลง 1.50 บาท และรถปรับอากาศลดลงระยะละ 1 บาท ส่วนรถร่วมบริการ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ลดลงกิโลเมตรละ 3 สตางค์ มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม ขณะเดียวกันแรงกดดันต้นทุนของผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มลดลงน่าจะช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคลงมาได้ในระยะข้างหน้า สังเกตได้จากราคาพลังงาน วัตถุดิบโลหะ และผลผลิตการเกษตรที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 19.0 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน (จากที่เคยพุ่งขึ้นไปสูงสุดถึงร้อยละ 21.6 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา) ขณะที่คาดว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตจะยังชะลอลงอีกในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี

จากทิศทางดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 น่าจะปรับลดลงไปที่ประมาณร้อยละ 3.0 จากร้อยละ 7.3 ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของทั้งปี 2551 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.7 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ต่ำลงกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ในเดือนก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงเร็วกว่าที่คาด แต่ก็ยังคงเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับร้อยละ 2.3 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2552 ตัวเลขรายเดือนอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงค่อนข้างผันผวน เนื่องจากผลของฐานในปีนี้ที่ในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 เงินเฟ้อจะสูงกว่าไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 4 อยู่มาก อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยทั้งปี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 จะต่ำลงมาอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 1.5-3.0 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.5-2.5

อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาของภาคครัวเรือน ซึ่งรายได้อาจจะถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ขณะที่ทางการจะสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางปัญหานานัปการที่จะตามมากับวิกฤติการเงินและปัญหาเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศที่เศรษฐกิจไทยยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกยังมีโอกาสที่จะผันผวน โดยประเด็นที่ยังต้องจับตามองในระยะสั้นนี้คือทิศทางค่าเงินดอลลาร์ฯ โดยในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง อาจทำให้มีการกลับเข้ามาเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เป็นบางช่วง ขณะที่ในระยะ 12 เดือนข้างหน้าคงต้องติดตามการคลี่คลายปัญหาวิกฤติในระบบการเงินโลก และมุมมองของตลาดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกมีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาลงและคงจะยืนในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งนั้น เมื่อการลงทุนในตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูงมีความเสี่ยงลดน้อยลง และมีสัญญาณบ่งชี้ที่เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคสำคัญเริ่มที่จะผงกหัวขึ้นจากจุดต่ำสุดได้ เมื่อนั้นนักลงทุนอาจถอยออกจากสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ ที่ให้ผลตอบแทนต่ำ และหันกลับเข้ามาลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มราคาในช่วงปีข้างหน้า


http://www.bangkokbiznews.com/2008/11/03/news_308482.php