การตั้งมั่นไม่ประมาทในการลงทุน
ได้ผ่านงานเฉลิมฉลองในเทศกาลปีใหม่กันไปแล้วนะคะ และเป็นการก้าวเข้าสู่ปีฉลูที่เศร้าสลดหดหู่ เพราะการฉลองเข้าสู่ปีใหม่ของกรุงเทพมหานครด้วยเหตุเพลิงไหม้ไนต์คลับหรูกลางกรุงที่ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 64 ราย และบาดเจ็บพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอีกจำนวนหลายสิบคน บ้างจึงตั้งชื่อว่าเป็นปีวัวเพลิง บ้างก็เรียกว่าวัวบ้า ก็ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวผู้ประสบเคราะห์กรรมทุกคนด้วยนะคะ
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2552 นั้น ดังที่เคยเรียนไปแล้วนะคะว่าจะเป็นปีหนึ่งที่ยากลำบาก สำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะการถดถอยทางเศรษฐกิจและการอ่อนตัวลงแรงของอัตราเงินเฟ้อ จะทำให้มีแนวโน้มการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหมายถึงว่ารายได้และกำลังซื้อของประชาชนโดยรวมน่าจะอ่อนตัวลง ดังนั้นจึงต้องตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาทในการใช้จ่ายเงินตลอดจนการบริหารจัดการการเงิน
คำถามคงจะมีแล้วว่าจะมีกลยุทธ์ลง ทุนอย่างไรดี และควรจะลงทุนในหลักทรัพย์ อะไรและสัดส่วนเท่าไร ก็คงตอบด้วยคำถาม เดิม ๆ ที่ว่า ควรต้องมีการกระจายการลงทุน การกระจายการลงทุนอยู่บนหลักการที่ว่าจะไม่เก็บรักษาไข่เอาไว้ในตะกร้าเดียว เพราะหากหกหล่นแล้วก็จะแตกเสียหายไปทั้งหมดการแยกเก็บไข่ไว้เมื่อมีส่วนใดแตกเสียหายก็จะยังมีส่วนที่ดีเหลืออยู่ คำอธิบายนี้ก็คือว่าหากมีความไม่แน่นอนหรือไม่มีความมั่นใจแล้วควรที่จะลงทุนในการลงทุนในหลักทรัพย์หลายประเภทกระจายความเสี่ยง
การกระจายการลงทุนนั้นก็จะสามารถ จำแนกได้ตามหลักการ คือการกระจายการลงทุนตามประเภทของความเสี่ยง คือกลุ่มความเสี่ยงต่ำ และกลุ่มความเสี่ยงสูง (ทั้งผลตอบแทนการลงทุนก็จะผกผันกับความเสี่ยงด้วย) สำหรับความเสี่ยงที่สำคัญ ๆ ที่พึงต้องพิจารณานั้น ได้แก่
(1) ความเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินต้นอันเกิดจากการลดลงของมูลค่าหรือขาดทุนจากการลงทุนในกลุ่มนี้ ได้แก่ ราคาหุ้น หรือราคาสินทรัพย์บางประเภท เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้นที่ มีราคาลดลงอย่างรวดเร็วตามกาลเวลาที่ผ่านไป แต่หลักทรัพย์บางประเภทจะมีราคาเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา เช่น ที่ดิน ทองคำ เครื่องประดับมีค่าต่าง ๆ เป็นต้น
(2) ความเสี่ยงทางด้านเครดิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับตราสารหนี้ ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็จะมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการที่ผู้ออกตราสารหนี้จะไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้ตามกำหนด
(3) ความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่อง หมายถึงการขาดสภาพคล่องที่ไม่สามารถแปลงหลักทรัพย์กลับคืนเป็นเงินได้ง่าย เพราะหาก ต้องการจะแปลงเป็นเงินแล้ว มูลค่าหรือราคาก็จะ ลดลงมากในการโอนเปลี่ยนมือ กรณีที่ชัดเจน คืออสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดิน บ้านและอาคารพาณิชย์ต่าง ๆ
(4) ความเสี่ยงจากปัจจัยตลาดที่ ไม่เอื้ออำนวย อาจจะเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่มีผลกระทบต่อผลตอบแทน ตัวอย่าง เช่น วิกฤติการทางการเงินของโลกที่เกิดขึ้นในปี 2551 เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ที่ทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างรุนแรงทั่วโลก และปัจจัยทางเศรษฐกิจและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ก็ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญ ในการกำหนดผลตอบแทนการลงทุนในนี้
สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยงที่จะเกิดจากการขาดทุนได้นั้นก็คงจะต้องลงทุน ในหลักทรัพย์กลุ่มที่มีความมั่นคงสูงประเภทการฝากเงินและการถือตราสารหนี้ระยะสั้นนะคะ แต่การฝากเงินและตราสารหนี้นั้นก็อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นเมื่อเข้าใจถึงความเสี่ยงที่แต่ละท่านจะรับ ได้แล้ว ก็คงจะตัดสินใจเลือกได้นะคะว่าจะลงทุนอย่างไร.
ที่มา นสพ.เดลินิวส์
สารัญ Creditbank Credit card bank
123