ข้อผิดพลาดเรื่องการเงินของ 9 กูรู
คุณอาจจะเคยเดินผิดพลาด บาดเจ็บจากการลงทุนมาบ้าง แต่ถ้าหยิบความผิดพลาดนั้นมาเป็นบทเรียน และแก้ไข ความผิดพลาดแบบเดิมๆ ย่อมไม่เกิดขึ้นอีก
"วรวรรณ" ลงทุนอสังหาฯ ผิดพลาด
"วรวรรณ ธาราภูมิ" กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง เล่าถึงเรื่องผิดพลาดทางการเงินในอดีต คือ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์กระจายไปทั่ว แล้วไม่ได้ทำให้เกิดผลประโยชน์ ซึ่งผิดหลักการลงทุน บางแห่งลงทุนไปแล้ว แต่กลับจำไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหนในต่างจังหวัด กว่าจะมีเวลาในการไปหาให้เจอ ไปรังวัดใหม่ มันยุ่งมาก เพราะเราไม่มีเวลา แต่ตอนนี้แก้ไขไปเกือบหมดแล้ว
โดยให้คนเข้าอยู่หากเป็นบ้าน หากเป็นที่ดิน ก็มีการเพราะปลูกสิ่งที่เหมาะสม การลงทุนโดยทิ้งไว้เฉยๆ มันไม่งอกเงย และหากเป็นบ้านร้างทรัพย์สินจะเสื่อมไวกว่าการมีคนอยู่อาศัย นอกจากนี้หากเราละเลยไป อาจโดนครอบครองโดยปรปักษ์ได้
"วิเชฐ" ลุยตลาดหุ้นแบบร้อนวิชา
"วิเชฐ ตันติวานิช" รองผู้จัดการสายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เล่าว่าตอนจบปริญญาโท MBA เมื่อปี 2529 แล้วเข้าทำงานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบัน คือ ธนาคาร ทิสโก้ ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ แต่ทำงานเพียง 6 เดือนแรก ก็ร้อนวิชา นำเงินที่มีเข้าลงทุนในตลาดหุ้น
ขณะนั้นอยู่ในช่วงขาขึ้น ใช้วิชาการวิเคราะห์แบบเทคนิคล้วนๆ เช่น Heads & Shoulders, Point & Figures เพราะหุ้นช่วงนั้นขึ้นทุกตัว มองจังหวะทางเทคนิคเท่านั้นก็ลงทุนได้ ต่อมาเกิดเหตุการณ์ Black Monday เริ่มที่ ตลาด NYSE ทำให้กำไรที่ได้รวมทั้งทุนที่มีต้องหมดไปในเวลาเพียง 2 สัปดาห์
"ที่แย่กว่านั้น คือ เงินของรุ่นพี่ๆ ในที่ทำงานก็หมดไปกับเราด้วย เพราะเขาเชื่อเรา ซึ่งนั่นเป็นบทเรียนสำคัญของผู้ร้อนวิชา แต่ขาดประสบการณ์ ไม่ดูพื้นฐานก่อนลงทุน ตั้งแต่นั้นมา ก็ตั้งใจศึกษาเรื่องการลงทุนอย่างจริงจัง จนยึดเป็นอาชีพในปัจจุบัน"
"สุวภา" ลงทุนแล้วไม่ดูแลและใส่ใจ
"สุวภา เจริญยิ่ง" กรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต เล่าว่า เรื่องผิดพลาดทางการเงินของเธอเป็นเรื่องใกล้ตัว คือลงทุนแล้วไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้ดูแล และติดตามการลงทุนอย่างที่ควรจะทำ เช่นการลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็คิดว่าหุ้นตก เดี๋ยวก็ขึ้น ประกอบกับไม่ค่อยมีเวลาติดตาม นั่นทำให้กลายเป็นข้อผิดพลาดทางการเงินอย่างร้ายแรง พอตลาดหุ้นตกอย่างรุนแรง กลับมาดูอีกที ก็ราคาร่วงเยอะแล้ว
"อย่างวิกฤติรอบนี้ บอกได้เลยว่ารุนแรงมาก ขนาดเป็นสึนามิทางเศรษฐกิจ ที่ถล่มมาวูบเดียว มูลค่าหุ้นหายไปอย่างรวดเร็ว เรียกว่ามาอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก ซึ่งการที่เรายุ่งกับงานจนไม่มีเวลาดูแล ในที่สุดก็กลายเป็นความผิดพลาดทางการลงทุน"
สุวภา บอกว่า บทเรียนครั้งนี้ ทำให้ได้ข้อคิดว่า จากนี้ไปรักจะลงทุนอะไรแล้วต้องติดตาม ใส่ใจกับเงินทองที่เราลงทุนไป ข้อสำคัญอะไรที่ไม่รู้ จะไม่ลงทุนอย่างเด็ดขาด
"อีกเรื่องหนึ่ง ที่พอบาดเจ็บจากตลาดหุ้นทีไร ก็จะคิดว่า ไม่เอาแล้ว ฉันจะไม่ลงทุนในหุ้นอีกแล้ว เข็ด หันไปลงทุนในพันธบัตรดีกว่า ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่ควรจะคิดอย่างนั้น เมื่อหุ้นตกเราก็ต้องซื้อหุ้นในราคาถูก ไม่ใช่หนีจากหุ้น แต่หลายคนจะคิดแบบนี้"
"สมจินต์" เร่งซื้อบ้านเพราะความกลัว
"สมจินต์ ศรไพศาล" กรรมการผู้จัดการ บลจ.วรรณ เล่าว่าเมื่อปี 1989 เขาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ผิดพลาด โดยไปซื้อบ้านมือสองแถวซอยอุดมสุข เพราะต้องเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ จึงกลัวว่าถ้าไม่รีบซื้อเอาไว้จะราคาที่ดินอาจจะขึ้นและเสียโอกาส ทั้งที่ขณะนั้นเงินก็ยังมีไม่เยอะพอ เวลาในการเลือกก็มีไม่มาก แต่ก็รีบร้อนตัดสินใจซื้อ ปรากฏว่า ตอนนั้นนอกจากซื้อในราคาแพง แถมถนนหนทางก็ยังไม่ดีนัก จึงได้ข้อสรุปว่าเป็นการลงทุนที่ผิดพลาด
"ผมมานั่งรีวิวดู ก็พบว่าเรา สิ่งที่ทำให้เราผิดพลาดคือการเร่งตัดสินใจซื้อเพราะความกลัว ซื้ออย่างรวดเร็วเกินไปเพราะหวังว่าอนาคตจะดีขึ้น โดยไม่มีข้อมูลที่แท้จริง เป็นการซื้อบนความหวัง แต่ข้อดีก็คือ เป็นการบังคับให้เราเก็บเงินเพื่อผ่อนบ้าน ซึ่งเวลาจะขายก็ขายลำบาก แต่ในที่สุดก็ขายได้"
"บุญชัย" เคยซื้อหุ้นตามข่าวลือ
"บุญชัย เกียรติธนาวิทย์" กรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต มองว่า กว่าจะมีความสำเร็จได้ คนเราทุกคนล้วนต้องผ่านประสบการณ์ผิดพลาดมาทั้งนั้นคนเราไม่ได้เรียนรู้ทุกอย่างที่ถูกต้องตั้งแต่เกิด ฉันใดก็ฉันนั้น คนเก่งทุกคนก็ต้องมาจากความไม่เก่ง หรือความผิดพลาดมาก่อนเสมอ ถึงแม้จะมีประสบการณ์ผิดพลาดมาเยอะแล้ว ก็ใช่ว่า จะไม่ผิดอีกเลย เพียงแต่เราจะฉุกคิดมากขึ้น ระมัดระวังมากขึ้น และตัดสินใจอย่างใจเย็นและไม่หวังสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ อย่างมีสติมากขึ้นเท่านั้นเอง
"ผมคลุกคลีในตลาดทุนตั้งแต่จบมาใหม่ๆ ทำงานเป็นนักวิจัย สมัยนั้นตลาดหุ้นบูมมากก็ซื้อหุ้นขายหุ้นเองแบบนักเล่นหุ้น กำไร 5-10% ก็ขายแล้ว ก่อนซื้อก็ดู P/E สักหน่อย ดูกำไรบริษัท สักนิด ดูความเคลื่อนไหวของราคาในอดีต แล้วก็ลงทุนซื้อ ก็เรียกว่า มีทั้งกำไรและขาดทุน บางช่วงเวลาซื้อหุ้นตามข่าวลือ หรือกระแสว่าหุ้นตัวนั้นหุ้นตัวนี้ จะราคาสูงขึ้น ก็มีทั้งกำไรและขาดทุนบ้าง แต่ที่รู้สึกได้ก็คือ เวลาได้กำไรไม่ค่อยเยอะ แต่เวลาขาดทุน เยอะมาก"
บุญชัย บอกว่า บทเรียนที่ได้รับ อย่างแรกคือเครียด เล่นหุ้นเองเครียด ต้องติดตามราคาทุกวัน ไม่สนุก อย่างที่สอง หุ้นมีขึ้นก็มีลง ดังนั้น ก็ต้อง กระจายเงินที่ลงทุนออกไปสินทรัพย์ประเภทอื่นบ้าง เพราะเวลาสินทรัพย์หนึ่งขาดทุน สินทรัพย์อื่นก็ไม่น่าจะขาดทุน
อย่างที่สาม ถ้าอยากจะลงทุนตาม ข่าวลือ ก็ควรเป็นสัดส่วนที่น้อย และพร้อมจะยอมรับการขาดทุนได้ เผื่อใจเอาไว้มากๆ คือ เป็น ศูนย์ ได้ก็ยิ่งดี แต่ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าลงทุนแบบนี้ เพราะโอกาสขาดทุนมีมากกว่าโอกาสกำไร อย่างที่สี่ เป็นไปได้ยากที่จะซื้อหุ้นได้ราคาถูกที่สุด หรือขายหุ้นได้ในราคาที่แพงที่สุด อาจมีบ้างบางครั้ง แต่ต้องถือว่า ฟลุ้ค หรือโชคช่วย ซื้อแบบเฉลี่ยไปเรื่อยๆ น่าจะดีที่สุด
อย่างที่ห้า คือ ต้องหมั่นถามตัวเองบ่อยๆ ว่า เราเป็นคนแบบไหน ไม่ชอบเสี่ยงหรือชอบเสี่ยง ไม่ชอบหวือหวา หรือชอบหวือหวา ต้องเลือกเอาเพราะจะเป็นตัวกำหนดการลงทุนของเราด้วย
"เดี๋ยวนี้ผมจึงลงทุนเกือบทุกอย่าง แต่ยึดหลักกระจายการลงทุน และบางอย่างก็ลงทุนเอง บางอย่างก็ลงทุนผ่านกองทุนรวม ยกตัวอย่าง เงินฝากก็มีจำนวนเท่าที่คิดว่าต้องใช้ในชีวิตประจำวัน สัก 1-2 เดือน มีเงินฝากประจำบ้าง และลงทุนในกองทุนตลาดเงิน แบ่งเงินมาซื้อกองทุนหุ้นบ้าง กองทุนต่างประเทศบ้าง มีอสังหาริมทรัพย์ไว้ปล่อยเช่าบ้าง ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตประเภทคุ้มครองชีวิตเมื่อยามแก่ชรา และลงทุนทองคำบ้าง เป็นต้น เรียกว่า กระจายการลงทุนเยอะ อาจจะเป็นเพราะผมค่อนข้างอนุรักษนิยม จึงเน้นกระจายการลงทุนแบบกระจายจริงๆ "
"วนา" ซื้อคอนโดช่วง ศก.ไม่เป็นใจ
"วนา พูนผล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ไทย) บอกว่า เขาเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยผิดพลาดจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เขาเคยไปซื้อคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่เป็นใจ โดยวางเงินดาวน์ก้อนหนึ่ง เพราะความที่ไม่อยากเก็บเงินสดเอาไว้ เลยเอาไปลงทุนในรูปของสินทรัพย์ ซึ่งโดยหลักการถือว่าดี แต่ปรากฏว่า ราคาตกเรื่อยๆ เลยตัดสินใจทิ้งเงินดาวน์
"เป็นเพราะก่อนลงทุนไม่ได้ดูไทม์มิ่งให้ดี ไม่ได้ศึกษาแนวโน้มตลาดให้ดีพอ บทเรียนครั้งนี้ก็ทำให้การลงทุนในครั้งต่อไป ต้องทำการบ้านอย่างหนัก ต้องศึกษาทิศทางและวงจรเศรษฐกิจ แนวโน้มธุรกิจ จะได้ไม่พลาดอีก แต่ก็ไม่ได้ทำให้เข็ดกับการลงทุน เพราะต่อจากนั้น ผมก็ยังซื้อคอนโดมิเนียมเอาไว้ปล่อยให้คนเช่าอีก"
"ธีระ" มองโลกแง่ดีเกินไป
"ธีระ ภู่ตระกูล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ฟินันซ่า บอกว่า ความผิดพลาดทางการเงินของเขาเคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งวิกฤติการเงินปี 1997 ช่วงนั้นลงทุนในหุ้นธนาคารและหุ้นบริษัทเงินทุนหลายแห่ง ซึ่งคิดว่าล้วนแต่เป็นบริษัทที่มั่นคงทั้งสิ้น เพราะไม่มีใครคิดว่าสถาบันการเงินน่าจะถึงขั้นปิดกิจการหรือแบงก์และบริษัทไฟแนนซ์ล้มหายตายจากไปจากระบบการเงิน นั่นคือสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน และเป็นสิ่งที่ไม่เคยพบเคยเห็น
"การมองโลกในแง่ดีเกินไป เป็นจุดอ่อนในการลงทุนของผม ซึ่งเมื่อขาดทุนจากการลงทุน เราก็ให้เป็นบทเรียนกับชีวิต ว่าหลังจากนี้ไปจะลงทุนอะไรก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะแม้แต่สถาบันการเงินเก่าแก่ ที่เราคิดว่ามั่นคง ยังล้มได้ เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าสถาบันที่ใหญ่และมั่นคงจะล้มไม่ได้
ตอนนั้นต้องบอกว่าผมยังไร้เดียงสาเรื่องการลงทุนมาก บทเรียนครั้งนั้นทำให้ผมรู้ว่า บางครั้งเรื่องของการลงทุน ต้องหัดมองโลกในแง่ร้ายเอาไว้บ้าง ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ ผมจึงไม่ได้มองโลกในแง่บวกมากจนเกินไป จะเห็นว่าแม้เป็นบริษัทต่างประเทศใหญ่ๆ ยังล้มได้"
ธีระให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า การกระจายการลงทุน จะเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่ห่างจากความผิดพลาดจากการลงทุน
"เพิ่มพล" ตกหลุมพรางผลตอบแทนสูง
"เพิ่มพล ประเสริฐล้ำ" ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการ บลจ.พรีมาเวสท์ เล่าว่าช่วงก่อนที่เขาจะเข้ามาเริ่มทำงานในธุรกิจกองทุนรวมในปี 2529 เพื่อนคนหนึ่งได้ชักชวนให้นำเงินไปลงทุนในธุรกิจคอมมอดิตี้โดยเป็นการลงทุนระยะสั้นประมาณ 6 เดือน จ่ายผลตอบแทนในอัตราที่ค่อนข้างสูง และมีการออกเช็คล่วงหน้าจ่ายคืนเงินต้นบวกดอกเบี้ยให้ผู้ลงทุน ซึ่งขณะนั้นเป็นการลงทุนที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
หลังจากครบกำหนด 6 เดือนเขาก็นำเช็คไปขึ้นเงินพร้อมได้รับดอกเบี้ยตามที่แจ้งไว้ ต่อมาเพื่อนจึงชักชวนให้มาลงทุนใหม่โดยขอให้เพิ่มเงินลงทุน ซึ่งเพิ่มพลก็ลงทุนใหม่แต่จำกัดวงเงินลงทุนไว้เช่นเดิมที่ประมาณ 5 หมื่นบาท แต่ครั้งนี้เมื่อครบกำหนด 6 เดือน เหตุการณ์เปลี่ยนไป โดยเช็คนั้นไม่สามารถขึ้นเงินได้
"ตอนนั้นผมร้อนตัวแล้ว ติดต่อเพื่อนก็ไม่ให้คำตอบชัดเจน อ้างว่าราคาคอมมอดิตี้ลดลง บริษัทจึงไม่สามารถจ่ายเงินพร้อมดอกเบี้ยคืนได้ ตอนนั้นได้แต่คิดว่าคงต้องทำใจแล้ว จะไปฟ้องร้องก็คงไม่คุ้ม จะร้องเรียน สคบ. ขณะนั้นก็ยังไม่เกิด นึกโทษเพื่อนก็คงไม่ได้ทั้งหมด เพราะเขาก็แค่เป็นลูกจ้างบริษัทนั้น แต่ท้ายสุดก็ต้องโทษตัวเอง"
เพิ่มพล มานั่งทบทวนดู สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอะไร ก็พอสรุปประเด็นหลักๆ ได้ 2-3 ประเด็นคือ 1. ความโลภที่ต้องการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูง โดยมิได้พิจารณาความเสี่ยง 2. ความไว้วางใจที่ให้กับเพื่อน 3. ขาดการวิเคราะห์พิจารณา หรือไม่รู้ในสิ่งที่ตนเองจะลงทุน
อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบสาเหตุผิดพลาดตามข้างบนแล้ว ก็นำมาเป็นบทเรียนหาทางระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นอีก จึงอยากแนะนำนักลงทุนทั่วไปว่า 1. การลงทุนอะไรก็ตามที่ให้ผลตอบสูงล่อใจ ก็มีโอกาสสูงเช่นกันที่จะทำให้เราสูญเสียเงินลงทุน เข้าหลักเกณฑ์สั้นๆ ที่ทุกคนทราบดี high risk high return แต่ไม่ค่อยมีใครมองควบคู่กันไป มองแต่ผลตอบแทนอย่างเดียว 2. การลงทุนต่างๆ คนที่เราไว้ใจได้มากที่สุดคือตนเอง 3. หากจะลงทุนอะไร เราต้องเข้าใจหรือรู้ว่าเราไปลงทุนอะไรอยู่ เพื่อจะเป็นส่วนช่วยในการประเมินในข้อ 1.
"ผมยังโชคดีที่จำกัดวงเงินลงทุนไว้ ไม่เช่นนั้นจากลงทุนที่เริ่มจำนวนก้อนหนึ่ง จะถูกล่อด้วยความโลภให้เป็นก้อนใหญ่มากขึ้น ความเสียหายก็จะมากขึ้นไปด้วย ดังนั้น การลงทุนจึงควรพิจารณาลงทุนให้เหมาะสมกับสถานะ รู้จักการกระจายความเสี่ยง และต้องเตือนใจตนเองให้เข้าใจเรื่องผลตอบแทน และความเสี่ยง
ไม่เช่นนั้นจะผิดพลาด นอกจากนี้ หากเราไม่แน่ใจไม่เข้าใจในสิ่งที่ตนเองไปลงทุน ก็อย่าได้ชักชวนคนอื่นมาลงทุนด้วย มิเช่นนั้นคุณอาจโดน 2 เด้งและหากไม่มีเวลาที่จะติดตามเรื่องการลงทุน หรือไม่ชำนาญ แนะนำว่าลงทุนผ่านมืออาชีพ สบายใจกว่ากันเยอะ"
"โชติกา" ทุ่มเงินลงทุนในหุ้นตัวเดียว
"โชติกา สวนานนท์" กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ เล่าให้ฟังว่า ปกติเป็นคนที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นได้ค่อนข้างมากอยู่แล้ว แต่ก็เคยมีประสบการณ์ความผิดพลาดในการลงทุนที่อยากจะเล่าให้ทุกคนทราบ คือ เคยทุ่มลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งในปริมาณที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเงินทั้งหมดที่มีในขณะนั้น
ถ้าโชคดี ราคาหุ้นตัวนั้นขึ้น ก็คงจะได้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ แต่พอโชคไม่เข้าข้าง ราคาหุ้นตกลงตามภาวการณ์ในขณะนั้น ก็ทำให้เกิดการขาดทุนค่อนข้างมาก
"แต่ยังดีที่เงินก้อนนั้นสามารถลงทุนได้ในระยะยาว จึงไม่ทำให้เดือดร้อนมาก แต่จากประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้เห็นความสำคัญในการกระจายการลงทุนให้เหมาะสม เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้"
เรื่องผิดพลาดทางการเงิน เกิดขึ้นได้เสมอกับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่เซียนและกูรูการเงิน ข้อสำคัญคือเมื่อผิดพลาดแล้ว หยิบมาเป็นบทเรียน อย่าให้ผิดซ้ำซากอีก