“ทำประกันชีวิตที่ธนาคาร ไม่ใช่การฝากเงิน”
ขออนุญาตเอามาลงในบล็อกนะคะ พอดีไปอ่านเจอเข้า แล้วเห็นว่าน่าสนใจ และมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่าน หลายๆท่านที่กำลังเข้าใจผิดและ โดนชักจูงให้เข้าใจในข้อมูลที่ผิด ลองมาอ่านนี่ดูคะ
นายสมเกียรติ ปัญหา
หัวหน้าสำนักงานประกันภัยจังหวัดแพร่
เรื่องมันเกิดตรงที่ว่ามีการขายประกันชีวิตโดยผ่านธนาคาร แต่ถ้าบอกกันตรง ๆ ว่าเป็นการประกันชีวิต ไม่ใช่การฝากเงินปัญหามันจะไม่มี แต่ที่มันเป็นปัญหาคือเมื่อเดินเข้าไปในธนาคารจะไปฝากเงิน หรือบางรายมีเงินฝากประจำหลักแสนหรือหลักล้าน ฝากเพื่อกินดอกเบี้ยกับธนาคารอยู่ จะได้รับคำเชิญชวนจากบุคคลที่อยู่ในธนาคาร ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นพนักงานของธนาคารหรือของบริษัทประกันชีวิตในเครือของธนาคารก็ตาม ชักชวนให้ฝากเงินรูปแบบใหม่ปีละห้าหมื่นบาท หรือหนึ่งแสนบาท หรือจำนวนเงินตามที่ชักชวน โดยชี้แจงว่าจะได้รับผลตอบแทนในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากแบบเงินฝากประจำจำนวนมาก และเมื่อตกลงว่าจะฝากเงินรูปแบบดังกล่าวแล้ว ก็จะมีการพาไปตรวจโรค โดยให้เหตุผลไปต่าง ๆ นานา ไม่บอกว่าเป็นการตรวจโรคเพื่อขอทำประกันชีวิต จากนั้นให้ลงชื่อในใบคำขอเอาประกันภัย หลังจากมอบเงินให้ไปแล้วโดยคิดว่าเป็นการฝากเงิน เพราะทำในธนาคาร แต่ 1 ถึง 2 สัปดาห์จะได้รับเอกสารเป็นเล่ม ไม่ใช่สมุดเงินฝาก แต่กลายเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิต จึงมารู้ว่านี่ไม่ใช่การฝากเงินเป็นการทำประกันชีวิต ปัญหาเกิดล่ะที่นี้ ความต้องการคือต้องการฝากเงินแล้วได้ผลตอบแทนสูงแบบที่ถูกชักชวน ทำไมกลายเป็นอีกเรื่อง รู้สึกเดือดร้อนมากจะทำอย่างไรดี
อันดับแรกหากถูกเชิญชวน ให้ถามบุคคลที่เชิญชวนว่า ฝากเงินแบบพิเศษที่ว่า ฝากแล้วไม่ครบปีมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ไม่อยากได้ล่ะดอกเบี้ยพิเศษถอนเงินคืนตามจำนวนที่ฝากได้หรือไม่ ถ้าเป็นการฝากเงินกับธนาคารจะสามารถถอนได้ทันทีตามความประสงค์เมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าฝากเงินแบบพิเศษที่อ้าง หากได้รับกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นเล่มใหญ่ ๆ มีหลายหน้า ไม่ใช่สมุดเงินฝากธนาคาร แบบนี้จะถอนเงินตามจำนวนที่ฝากไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะการประกันชีวิตเป็นการออมเงินแบบบังคับออม นั่นหมายถึงว่า หากยังไม่ครบกำหนดสัญญาประกันชีวิต จะไม่ได้รับเงินเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไปแล้วคืน จะถอนแบบเงินฝากธนาคารก็ไม่ได้ ต้องรอจนกว่าจะครบอายุสัญญา เช่น 10 ปี หรือ 15 ปี เป็นต้น
อันดับต่อมาการฝากเงินกับธนาคารจะฝากประจำหรือฝากแบบไหนก็ตาม จำนวนเงินต้นยังคงอยู่ไม่สูญหายไปไหน แม้จะหยุดฝาก คงอยู่ครบจำนวน และได้ผลตอบแทนตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ฝากแบบพิเศษที่ถูกเชิญชวนที่เป็นการประกันชีวิตนั้น จะต้องฝากต่อเนี่องทุกปีตามสัญญาประกันประกันชีวิต จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาที่ต้องชำระเบี้ยประกันชีวิต เช่น 10 ปี หากขาดส่งปีใด ไม่ว่าจะเนื่องมาจากไม่มีเงิน ตกงาน อาจจะทำให้สัญญาประกันชีวิตขาดผลบังคับ ผลตอบแทนตามที่เชิญชวนกันไว้จะไม่ได้รับตามที่บอกอย่างแน่นอน หนักไปกว่านั้น หากชำระเบี้ยประกันภัยได้ 1-2 ปี ผลตอบแทนที่ได้อาจจะไม่มีเลย รวมทั้งจำนวนเงินที่ชำระเบี้ยประกันภัยไปแล้วก็ไม่อาจที่จะเรียกหรือถอนคืนได้
ข้อดีของการประกันชีวิตคือ การที่ชำระเบี้ยประกันไปแล้วแม้เพียงเริ่มสัญญา จะมีความคุ้มครองตามจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้ทันที หากเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรจะได้รับจำนวนเงินตามความคุ้มครองอาจจะเป็น หนึ่งแสน สองแสน หรือตามสัญญาประกันภัย หรือเมื่อครบกำหนดสัญญาจะได้รับเงินตามทุนประกันภัยที่กำหนด อาจมีเงินปันผล มีการซื้อความคุ้มครองประกันสุขภาพ ทั้งนี้จะเป็นการบังคับให้ออมเงิน ซึ่งไม่อาจจะถอนได้หรือจะได้รับเงินคืนจนกว่าจะครบสัญญา เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่อาจจะออมเงินได้ ต้องมีการบังคับออม แต่คนที่จะทำประกันชีวิตต้องถามตัวเองก่อนว่า การซื้อประกันชีวิตจำนวนเงินคุ้มครองเท่าใด จึงจะสามารถส่งชำระเบี้ยประกันภัยได้ตลอดอายุสัญญา 10 ปี หรือ 20 ปี หากส่งไม่ได้ผลตอบแทนย่อมไม่เป็นไปตามสัญญาประกันภัยอย่างแน่นอน
มันน่าเศร้าใจตรงที่ว่า ทำไมหนอคนเราจึงไม่เห็นอกเห็นใจกัน ตัวอย่างคือมีประชาชนคนหนึ่งเดินเข้าไปในธนาคาร จะเอาเงินไปฝาก ถูกบุคคลที่อยู่ในธนาคารชักชวนให้ฝากเงินแบบพิเศษผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากประจำ พอลูกค้าตกลงฝากเงินด้วย ก็พาไปตรวจสุขภาพ ลูกค้าเองอ่านหนังสือไม่ออก และลงชื่อไปในใบที่เขาให้ลงชื่อ พอกลับบ้านสมุดเงินฝากธนาคารก็ไม่ได้ เงินไม่น้อยนะครับครี่งแสนบาทเลยล่ะ หลังจากนั้นไม่นาน ได้รับเอกสารเป็นเล่มใหญ่ส่งมาทางไปรษณ๊ย์ ไม่ใช่สมุดฝากเงิน เนื่องจากอ่านหนังสือไม่ออก จึงปล่อยทิ้งไว้ มารู้ภายหลังว่าเป็นการประกันชีวิต เดือดร้อนแล้ว เวลานี้มาหาทางแก้กันไป รายนี้มีรายได้ต่อปีไม่มากนักหรอกครับเพราะแก่แล้ว ไหนเลยจะหาเงินมาส่งเบี้ยประกันภัยได้ทุกปีปีละครี่งแสนบาท เป็นเวลา 10 ปีตลอดอายุสัญญาประกันภัย เมื่อไม่ส่งขาดส่งก็จบไม่มีผลตอบแทนอะไรให้ตามที่ชักชวนกัน เงินที่ชำระไปแล้วก็สูญ เพราะไม่ใช่การฝากเงิน ที่จริงแล้ว แม้เป็นการประกันชีวิต เมื่อได้รับกรมธรรม์มาภายใน 15 วัน หากไม่ประสงค์จะทำประกันชีวิตสามารถยกเลิกสัญญาประกันชีวิตได้ แต่ส่วนใหญ่ด้วยความที่ไม่รู้รับมาก็เก็บไว้เฉย ๆ กว่าจะรู้ก็ผ่านไปนาน เดือนร้อนต้องหาหนทางแก้ไขยากทีเดียว
ผมจึงขอบอกว่า การทำประกันชีวิตที่ธนาคาร ไม่ใช่การฝากเงินแบบพิเศษ ที่มีผลตอบแทนคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากเงินแบบประจำ หรือฝากเงินประเภทอื่นแต่ประการใด คนละเรื่องเลยครับ จะฝากเงินก็คือฝากเงินต้องได้สมุดเงินฝากธนาคาร จะทำประกันชีวิตที่ธนาคารอย่างไรเสียก็คือการทำประกันชีวิต ไม่ใช่การฝากเงินผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยพิเศษแต่อย่างใด หากมีความต้องการแบบใด ขอให้ไตร่ตรองและทำตามความต้องการของตนเอง อย่าเชื่อคำชักชวนที่ทำให้เราต้องพบกับความเดือดร้อนโดยไม่จำเป็นทีหลัง.
สำนักงานประกันภัยจังหวัดแพร่