สารัญ Creditbank Credit card bank

123

11/13/2552

ออมเงินไม่เก่ง..แต่รู้จักใช้เงิน

ออมเงินไม่เก่ง..แต่รู้จักใช้เงิน
ทุกวันนี้ก็ไม่ได้เข้มงวดหรือหย่อนยานกับการใช้เงินจนเกินไป ถึงขั้นไม่กินไม่ใช้เลย แบบนั้นก็ไม่ไหว แต่เราจะดูความเหมาะสมมากกว่า เช่นว่าปีนี้ต้องเตรียมเงินสำหรับเรื่องเรียนของลูกเท่าไหร่ จะได้วางแผนเอาไว้ถูก

หลักคิดในการจัดการเงินทองของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน แต่ดูเหมือนว่า หากเริ่มต้นจากการมี “หลักคิด” ไม่ว่าเนื้อหาจะออกมาต่างกันอย่างไร ก็ล้วนเป็นทิศทางที่ดีให้กับอนาคตเรื่องเงินๆ ทองๆ ทั้งสิ้น

“สมชาติ สุรจิตติพงศ์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บางกอกดิสทริบิวเตอร์ เป็นผู้บริหารอีกคนหนึ่ง ที่เริ่มต้นจากการมีหลักคิดในการจัดการเงินทองที่ดี ทำให้ทุกวันนี้เขาจึงมีทักษะการใช้จ่ายเงินทองอย่างเป็นระบบระเบียบ

“ผมไม่ใช่คนออมเงินเก่ง แต่เรียกว่าใช้เงินเป็นดีกว่า ไม่ได้รัดเข็มขัด แต่ยังกินใช้อย่างรู้จักความพอดีของชีวิต และไม่ลืมที่จะเตรียมออมเงินไว้สำหรับอนาคต เพราะข้างหน้ายังไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น”

หลักคิดที่สมชาติได้รับมรดกตกทอดจากผู้ใหญ่ที่เขานับถือ และใช้เป็นหลักคิดในการจัดการเงินทองมาตลอดคือ เวลาใช้เงินให้ดูคนที่เขามีฐานะต่ำกว่าเรา

“ลูกน้องผมรายได้เดือนหนึ่งไม่ได้เยอะมากมาย แต่เขาใช้เงินวันละไม่เท่าไหร่ เขาก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นการใช้เงินเราต้องดูคนที่ฐานะต่ำกว่าเรา แต่การแต่งตัวผมจะดูคนที่สูงกว่าผม ไม่ใช่หมายถึงต้องใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมแพงๆ แต่เราสังเกตคนที่มีฐานะ เขาจะใส่ให้ดูดีทั้งที่ไม่ต้องพึ่งพาข้าวของราคาแพง เมื่อบุคลิกดีคนก็ให้การยอมรับนับถือ”

สมชาติบอกว่าคนเราถึงแม้หาเงินได้เยอะ แต่จับจ่ายใช้เงินเหมือนคนมีฐานะ กินอยู่อย่างฟุ่มเฟือย แบบนี้มีเท่าไหร่ก็ไม่เหลือ เพราะฉะนั้นต่อให้เรียกร้องเงินหรือรายได้เพิ่มขึ้นสักเท่าไหร่ แต่ถ้าจัดการเงินไม่เป็น มีเท่าไหร่ก็หมด

“ทุกวันนี้ผมก็ใช้หลักคิดนี้สอนลูกน้องและลูกตัวเอง ว่าคนเราต้องเริ่มจากรู้จักใช้เงินให้เป็น ทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหา”

สมชาติถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการลงทุนของเขาให้ฟังว่า เขากระจายการลงทุนไปในหลายด้าน แต่ด้วยตัวแปรเรื่องของวัยและอายุ จึงเน้นฝากแบงก์ไว้เป็นหลัก เพราะความเสี่ยงต่ำ

“แต่ก่อนนี้ผมเคยเล่นหุ้นด้วย มีพอร์ตไว้ แต่ปัจจุบันไม่ได้เล่นแล้ว เพราะไม่มีเวลาไปติดตาม คือไม่ใช่อาชีพของเรา ถ้าทำไปแล้วมันผิดพลาดขาดทุนขึ้นมา ก็มานั่งคอยกังวลด้วย เลยหยุดเล่นไปเลยดีกว่า”

ความลงตัวของเขาอยู่ที่กองทุนรวม สมชาติบอกว่า เมื่อต้องทุ่มเทให้กับการบริหารงานประจำ จึงคิดว่ากองทุนรวมน่าจะช่วยเขาได้ เพราะมีความเป็นมืออาชีพด้านการลงทุน อีกทั้งเขาออกตัวว่าไม่ค่อยมีความรู้เรื่องการลงทุนเท่าไหร่ ที่ผ่านมาจึงจัดสรรเงินส่วนหนึ่งลงทุนในกองทุนรวม

ก็มีทั้งที่ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) และกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อเน้นประหยัดภาษีเป็นหลัก

“โดยส่วนตัวเวลาจะลงทุนในกองทุนรวม ผมไม่ค่อยได้ดูละเอียดถึงขั้นว่าบริษัทนั้นบริหารเป็นยังไง ก็มีคนแนะนำบ้าง แต่ผมจะเลือกบริษัทที่มีแบงก์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อได้ในเรื่องของความมั่นคง นอกจากนี้ ก็มีลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัท”

นอกจากนี้ ทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ก็ถือเป็นการลงทุนอีกช่องทางหนึ่งที่สมชาติให้ความสนใจ เขาเล่าว่า โดยส่วนตัวชอบลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว ไม่ได้ลงทุนเพื่อจำหน่ายต่อหรือเก็งกำไรในระยะสั้น แต่ลงทุนระยะยาวให้เป็นสมบัติของลูกหลานมากกว่า

“เดิมทีที่บ้านผมไม่มีสมบัติไว้ให้ลูกหลาน ผมเลยคิดว่าถ้าเราพอมี ก็ควรจะเก็บไว้ให้ลูกบ้าง พอช่วงหนึ่งสะสมเงินในระดับหนึ่ง แล้วผมเห็นว่าโครงการนี้น่าสนใจและมีกำลังทรัพย์มากพอ ก็จะซื้อเก็บไว้ เป็นอย่างนี้อยู่เรื่อย ๆ”

ก็คงเหมือนผู้ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วๆไป ที่เวลาจะซื้อก็จะดูทำเลเป็นหลักแต่สมชาติไม่ลืมดูเงินในกระเป๋าของเขาด้วย ว่าอนาคตหรือในระยะยาวมีความสามารถในการผ่อนมากน้อยแค่ไหน สมมุติว่าจะซื้อบ้านราคา 5 ล้านบาท อย่างน้อยเราต้องมีเงินอยู่สัก 2 ล้านบาท ที่เหลือค่อยไปผ่อนเอา พูดง่ายๆ คืออย่างน้อยต้องมีเงินอยู่แล้วสักประมาณ 30-50% จะทำให้ภาระการผ่อนเบาลง

“อาจจะต่างจากคนอื่นบ้าง แต่นี่คือวิธีของผม ซึ่งที่ผ่านมาผมค่อนข้างพอใจในการลงทุนประเภทนี้ เพราะรู้ข้อเสียของตัวเองดี ว่าถ้ามีเงินสดเก็บไว้จะหมดแน่นอน ไม่ทราบว่ามันหายไปไหน ทั้งที่เราก็ว่าเราจัดการดีแล้วนะว่าก้อนนี้เพื่อทำนั่น ก้อนนี้เพื่อทำนี่ แต่พอมาถึงจุดนี้ บางทีก็เพื่อนฝูงหยิบยืม เพราะฉะนั้นผมจึงอยากจะมีเงินสดให้น้อยที่สุด แล้วแปรสภาพเป็นทรัพย์สินจะดีกว่า ซื้ออะไรที่คิดว่าเราถูกใจ แต่ผันมาเป็นเงินได้เร็ว ราคาจะขึ้นหรือลงเราไม่ต้องไปซีเรียส ผมมองแบบคนโบราณนิดหนึ่งที่คิดเผื่อไว้สำหรับเรื่องพวกนี้ เพราะถ้าเป็นคนรุ่นใหม่เขาอาจจะไม่คิดเรื่องนี้”

แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับแผนการเงินของเขาคือ การจัดสรรเงินออมส่วนหนึ่ง ไว้เพื่ออนาคตทางการศึกษาของลูก ขณะเดียวกัน ก็ไม่ลืมวางแผนออมเงินไปถึงวัยเกษียณ

เขามองไปถึงว่า เวลาเกษียณควรมีเงินเท่าไหร่ถึงจะสบาย ทุกวันนี้ถึงได้สะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประหยัดภาษี และเงินสดส่วนหนึ่ง เขาคิดว่าพอเกษียณแล้วก็เอามาใช้ในบั้นปลาย

“แต่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้เข้มงวดหรือหย่อนยานกับการใช้เงินจนเกินไป ถึงขั้นไม่กินไม่ใช้เลย แบบนั้นก็ไม่ไหว แต่เราจะดูความเหมาะสมมากกว่า เช่นว่าปีนี้ต้องเตรียมเงินสำหรับเรื่องเรียนของลูกเท่าไหร่ จะได้วางแผนเอาไว้ถูก หรือแม้กระทั่งการผ่อนบ้านก็ต้องดูให้คนในบ้านมีกินใช้อย่างพอดีด้วย ไม่ใช่ผ่อนแบบตึงเกินไปแบบนี้ก็ไม่ไหว ทุกอย่างต้องให้พอดีและปกติ “

สมชาติยังทิ้งท้ายถึงทัศนคติการเป็นหนี้ ว่ามีข้อดีเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าการเป็นหนี้จะเลวร้ายเสมอไป อย่างบัตรเครดิตก็ถือว่ามีประโยชน์ เพราะในสังคมถ้าไม่มีบัตรเครดิตเลยก็กลายเป็นคนไม่มีเครดิต แต่ข้อแม้คือ ใช้เท่าไหร่ขอให้จ่ายเท่านั้น ไม่ใช่จ่ายเฉพาะขั้นต่ำ เพราะถ้าทำแบบนั้น ดินก็จะพอกหางหมูไปเรื่อยๆ

“การเป็นหนี้บางทีก็ทำให้เรารู้จักแอ็คทีฟ ขวนขวายหารายได้มาใช้หนี้ ไม่ได้เป็นหนี้แล้วจะแย่สถานเดียว ผมเห็นเถ้าแก่เป็นหนี้กันทุกคน เพราะหนี้ที่เกิดประโยชน์มันก็มี เช่นขยายธุรกิจ แต่ถ้าเป็นหนี้เพื่อสนองความอยากความสบายในชีวิต แบบนี้ผมว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ บริษัทผมลูกน้องเป็นหนี้บัตรเครดิตกันเยอะมาก ผมต้องขออนุญาตเจ้านาย รับซื้อหนี้จากลูกน้องมาเพื่อให้เป็นหนี้ก้อนเดียว โดยไม่คิดดอกเบี้ย เพราะอยากช่วยลูกน้อง ไม่อย่างนั้นหน้าที่การงานเกิดปัญหาตามมา”

นั่นเป็นมุมมองของคนที่เป็นทั้งนักบริหารและนักวางแผนการเงินที่น่าฟังไม่น้อย

ที่มา - BangkokBizweek